ประวัติการปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทย

         คนไทยได้รู้จัก และนำกล้วยไม้พันธุ์ท้องถิ่นมาปลูก และใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน โดยมักเป็นการนำกล้วยไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก ต่อมามีการนำพันธุ์กล้วยไม้จากต่างประเทศเข้ามา และขยายการปลูกเลี้ยงมากขึ้น โดย Thammasiri ( 1997 ) ได้รายงานว่าชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยได้นำกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากที่อื่นเข้ามาด้วยตั้งแต่ พ.ศ. 2456 และปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก หรือซื้อขายกันในวงแคบ ๆ ภายในประเทศ และได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

          จนกระทั่งได้มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสมัยนั้น คือ กรมนครสวรรค์วรพินิจ ได้สนพระทัยในการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก และได้ทรงศึกษาจากตำราต่างประเทศ ซึ่งรังกล้วยไม้ของพระองค์ท่านได้เป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้นในนาม กล้วยไม้วังบางขุนพรหม เและในปี พ.ศ. 2460 พระองค์ท่านได้ทรงแปล และจัดพิมพ์หนังสือชื่อ ตำราเล่นกล้วยไม้ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับกล้วยไม้เป็นภาษาไทยเล่มแรก แต่การเล่นกล้วยไม้ในสมัยนั้นยังคงมีการหมุนเวียนอยู่ในวงผู้มีฐานะดี เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดริเริ่มในการวางแผน และดำเนินการหาช่องทางที่จะพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งการปลูกกล้วยไม้ซึ่งอยู่แล้วได้ทรุดลงไปเนื่องจากสภาพสังคมของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไป

          ในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการนำหวายพันธุ์ปอมปาดัวร์
( Dendrobium Pompadour ) ซึ่งคนไทยเรียกกันติดปากว่า หวายพันธุ์มาดาม เข้ามาปลูกเลี้ยง และเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโต และให้ผลผลิตดี มีอายุการปักแจกันนานเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ทำให้วงการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกเป็นการค้าเฟื่องฟูขึ้น

          ในปี พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ซึ่งท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวงการกล้วยไม้ไทย เพราะท่านได้ศึกษาค้นคว้า และให้การฝึกอบรมสอนวิชากล้วยไม้ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และในปีนี้ได้มีการส่งออกดอกกล้วยไม้ไปต่างประเทศ ประมาณ และมูลค่าการส่งออกก็เพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

          ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการสถาปนาชมรมกล้วยไม้เป็นสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และในปัจจุบันนี้ได้มีการจัดทำมาตราฐานกล้วยไม้ของประเทศไทยในสกุลสำคัญที่มีการส่งออกอยู่เสมอ ๆ เช่น หวาย, ออนซิเดียม, ม็อคคาร่า, อะแรนด้า และแวนด้า เพื่อช่วยให้การค้ากล้วยไม้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

 

Top