วัชพืช
หมายถึง พืชที่ไม่ต้องการ ดังนั้นพืชชนิดใดก็ตามที่งอกในบริเวณที่ที่เราไม่ต้องการให้ขึ้นถือว่าเป็นวัชพืช
เช่น หญ้าแห้วหมูขึ้นบนสนามหญ้าญี่ปุ่น หรือต้นข้าวซึ่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
ถ้าขึ้นบนสนามหญ้าก็ถือว่าต้นข้าวเป็นวัชพืช วัชพืชกล่าวถึงส่วนใหญ่ทำความเสียหายแก่การเกษตร
และมนุษย์ เนื่องจากวัชพืชแย่งน้ำ แร่ธาตุในดิน แสงแดด
และยังเป็นแหล่งสะสมศัตรูพืช ขัดขวางระบบชลประทานการไหลของน้ำ
กีดขวางการจราจรทั้งทางถนน รถไฟ และน้ำ
วัชพืชในสวนกล้วยไม้ไม่ค่อยรุนแรงนัก
เนื่องจากปลูกในที่พรางแสงแดด และปลูกในภาชนะปลูกทำให้ดูแลได้ง่ายกว่าปลูกบนดินเหมือนพืชไร่และพืชสวน
ปัญหาวัชพืชมักจะพบบริเวณต้นกล้วยไม้ทางเดินและใต้โต๊ะปลูกภายในโรงเรือนกล้วยไม้
สาเหตุ
เกิดจากวัชพืชล้มลุก วัชพืชสองปี และวัชพืชหลายปี จากพืชตระกูลหญ้าและพืชตระกูลทั่วไป
รวมทั้งตะไคร่
ลักษณะอาการ
ทำให้การเจริญเติบโตกล้วยไม้ไม่ดีเท่าที่ควร
เนื่องจากแย่งน้ำ ปุ๋ย แสงแดด ทำให้วัสดุปลูกโดยเฉพาะกาบมะพร้าวผุเร็วกว่าปกติ
และเป็นที่สะสมโรคและหลบซ่อนของศัตรูกล้วยไม้
การป้องกันกำจัด
1. ใช้แรงงานคนและเครื่องมือกล เช่น
มือ มีด จอบ ฯลฯ
2. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนไม่ให้อับ
แน่นทึบ และชื้นจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้ตะไคร่และวัชพืชที่ชอบขึ้นเจริญเติบโตได้ดี
3. ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช
(herbicides) ถ้ากำจัดวัชพืชบนทางเดิน และใต้โต๊ะก็สามารถใช้สารเคมีประเภทไม่เลือกทำลายตามอัตราที่ระบุไว้
เช่น พาราควอท (paraquat)
และไกลโฟเซท (glyphosate)
แต่ต้องพยายามไม่ให้ละอองสารเคมีสัมผัสต้นกล้วยไม้ ถ้ากำจัดวัชพืชหรือตะไคร่บนภาชนะปลูก
วัสดุปลูกและรากกล้วยไม้ ต้องใช้อัตราที่เจือจาง นิยมใช้ไดยูรอน
(diuron) อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
|