สกุลหวาย (Dendrobium)

                     เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้าง ทั้งในทวีปเอเซีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์

           กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า “เดือยดอก” สำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ

          กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทย มีหลายชนิดอันได้แก่พวก “เอื้อง” ต่างๆ เช่น

 

Dendrobium aggregatum

เอื้องผึ้ง
Dendrobium aggregatum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยป้อมสั้นและเบียดกันแน่น ลักษณะใบแข็งหนาสีเขียวจัด ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม ก้านช่อดอกอ่อนโค้งลงมาช่อหนึ่งมีหลายดอก พื้นดอกสีเหลืองอ่อน ปากสีเหลืองเข้ม ขนาดดอกโตประมาณ 3 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium thyrsiflorum

เอื้องม่อนไข่
Dendrobium thyrsiflorum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างกลม หรือแบนโคนเล็ก และใหญ่ด้านบน สีเขียว ลำลูกกล้วยลำหนึ่งๆ มีใบประมาณ 3–4 ใบ ลักษณะใบแหลมยาวประมาณ 10–18 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกห้อยเป็นพวงยาว ดอกแน่น กลีบดอกสีเหลือง ปากยาวรีสีเข้มกว่ากลีบ ภายในมีขนแต่ริมสันปากไม่มีขน ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium friedericksianum

เหลืองจันทบูรณ์
Dendrobium friedericksianum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดจันทบุรี เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นโคนเล็กแล้วค่อยโป่งไปทางตอนปลายขนาดลำยาวมาก บางต้นยาวถึง 75 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะเป็นสีเหลืองโดยด้านข้างของลำจะมีใบอยู่ทั้งสองข้าง ออกดอกในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ช่อดอกออกตามข้อของลำ ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 2–4 ดอก กลีบดอกเป็นมัน รอบแรกดอกจะเป็นสีเหลืองอ่อนแล้วจะค่อยๆ เข้มขึ้นจนเป็นสีจำปา ปากสีเข้มกว่ากลีบ ในคอมีสีแต้มเป็นสีเลือดหมู 2 แต้ม ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium findlayanum
เอื้องพวกหยก
Dendrobium findlayanum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยสีเขียวเหลือง ยาวประมาณ 30–70 เซนติเมตร และโป่งเป็นข้อๆ ลักษณะใบยาวรี เมื่อลำแก่จะทิ้งใบ ออกดอกตามข้อๆ ละประมาณ 2 ดอก กลีบดอกสีม่วงอ่อนโคนกลีบสีขาว ปากสีเหลืองเข้ม ขอบปลายปากเป็นรูปหัวใจ ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium pulchellum

เอื้องช้างน้าว
Dendrobium pulchellum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะกลม ต้นอ่อนเป็นเส้นสีม่วงลักษณะใบรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร เมื่อลำแก่แล้วจะทิ้งใบ แตกช่อห้อยที่ปลายลำ ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ช่อหนึ่งมี 5–7 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนมีเส้นเหลืองชมพู ปากรูปไข่กลมแบะแอ่นลงมีแต้มสีเลือดหมู 2 แต้ม กลีบนอกเป็นรูปใบ ภายในกลีบเป็นรูปไข่ ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium farmeri

เอื้องมัจฉาณุ
Dendrobium farmeri
          เป็นกล้วยไม้ที่ลำลูกกล้วยลักษณะเป็นพู ตอนบนใหญ่ตอนล่างเล็กรูปสี่เหลี่ยมยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยแต่ละลำมีใบ 3–4 ใบ ลักษณะใบเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ออกดอกในเดือนมีนาคม ดอกเป็นช่อห้อยยาวประมาณ 15–25 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีหลายดอก ก้านช่อดอกยาว ดอกหลวม ทั้งกลีบดอกนอกและในมีสีม่วง ชมพู หรือขาว ปากสีเหลืองมีขนเป็นกำมะหยี่ ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

 

 

Dendrobium formosum

เอื้องเงินหลวง
Dendrobium formosum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยตั้งตรง กลมค่อนข้างอ้วน ความยาวประมาณ 30–50 เซนติเมตร ที่กาบใบมีขนสีดำลักษณะใบรูปไข่ยาวรี ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ปลายใบมี 2 แฉกไม่เท่ากัน ออกดอกที่ยอด ช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งๆ มี 3–5 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ปากสีเหลืองส้มโคนปากสอบปลายปากเว้า มีสันนูนสองสันจากโคนออกมาถึงกลางปาก ขนาดดอกโตประมาณ 10 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium draconis

เอื้องเงิน
Dendrobium draconis
          มีลักษณะลำต้นคล้ายกับเอื้องเงินหลวง แต่จะมีลำและใบสั้นกว่าก้านช่อสั้น มีดอกประมาณ 2 ดอกขึ้นไป ดอกเล็กกว่าเอื้องเงินหลวงเล็กน้อย กลีบขาว ปากสีส้มอมแดง ขนาดดอกโตประมาณ 8 เซนติเมตร

 

 



Dendrobium primulinum

เอื้องสายประสาท
Dendrobium primulinum
          เป็นกล้วยไม้ที่ลำลูกกล้วยกลมเกือบเท่ากันทั้งลำ รูปทรงตรงหรือโค้งเล็กน้อย ตามยาวประมาณ 30–45 เซนติเมตร ใบเล็กลงไปทางยอด ใบตัดเฉียง ๆ ตามยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อใบแก่แล้วจะทิ้งใบ และออกดอกตามข้อที่ทิ้งใบแล้ว ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดอกเป็นช่อๆ ละ 1–2 ดอก ลักษณะกลีบดอกนอกและในยาวรีเท่ากัน สีม่วงอ่อน ปากรูปกรวยเป็นวงกลมสีเหลืองมะนาว ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร


 

 

Dendrobium chrysotoxum

เอื้องคำ
Dendrobium chrysotoxum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยรูปทรงหลายเหลี่ยมโดยจะมีตอนกลางลำโป่ง แล้วเรียวลงมาโคนและยอด ความยาวประมาณ 20–50 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะมีสีค่อนข้างเหลืองตอนบนของลำจะมีใบอยู่ 4–5 ใบ ยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ในกอหนึ่งๆ จะออกดอกเป็นช่อ แต่ละช่อดอกจะห่างไม่อัดแน่น ดอกมีสีส้มสด ปากสีส้ม ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

 

 

 

Dendrobium fimbriatum var. oculatum

แววมยุรา
Dendrobium fimbriatum var. oculatum
          เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยยาวกว่า 60 เซนติเมตร ใบอยู่บนยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ออกดอกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ช่อดอกห้อยยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมี 7–15 ดอก กลีบนอกยาวรี กลีบในเป็นรูปไข่สีเหลือง ปากมีสีเข้มกว่ากลีบดอก

 

 

 

 

Dendrobium delacourii Guill.

เอื้องดอกมะขาม
Dendrobium delacourii Guill.
          ชื่อท้องถิ่น เอื้องข้าวเหนียวลิง, เอื้องมะขาม ลักษณะลำต้นเป็นลำยาวรูปไข่ ขนาดยาวประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ใบเป็นแบบใบหอก ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ3 - 4 เซนติเมตร จะออกดอกระหว่างเมษายน - มิถุนายน ช่อดอกเกิดที่บริเวณยอด ช่อดอกยาว 8 - 10เซนติเมตร ขนาดดอกประมาณ 2 เซนติเมตร ช่อละ 8 - 10 ดอก ดอกมีสีเหลือง ปากดอกมีสีน้ำตาลแกมแดง ปากดอกมีครุย ปลายครุยมีปุ่มเล็กๆ


 

Top