สกุลเข็ม
(Ascocentrum)
กล้วยไม้สกุลเข็มได้สมญาว่าเป็น
ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น
ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ
ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย
ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ
มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง
สกุลแวนด้า สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ
ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก
จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่
4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์
คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง
![](../images/other/Ascocentrum-curvifolium1.jpg) |
Ascocentrum
curvifolium
|
|
เข็มแดง
Ascocentrum curvifolium
พบกระจายพันธุ์ในแคว้นอัสสัม
ประเทศอินเดีย มาทางประเทศพม่า จนถึงประเทศไทย แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เชียงใหม่ ตาก และ กาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 100-300
เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบมีสีเขียวอ่อน ค่อนข้างอวบน้ำ ใบแคบ
โค้ง เรียว ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร
ในฤดูแล้งขอบใบจะปรากฏจุดสีม่วงประปรายและจะหนาแน่ขึ้นเมื่อแล้งเพิ่มมากขึ้น
ดอกสีแดงอมส้ม ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกรูปทรงกระบอก
ตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกแน่นช่อ บานทนนับเป็นสัปดาห์
ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
|
เข็มแสด
Ascocentrum miniatum
พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
ในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบ และที่เป็นภูเขา
จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เข็มแสดมีลำต้นไม่สูงนัก
ใบเรียงซ้อนกันแน่น ใบอวบหนา ปลายใบเป็นฟันแหลม และโค้งเล็กน้อย
ใบสีเขียวแก่ และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อย เมื่อมีสภาพอากาศแห้งแล้ง
ใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
ดอกมีกลีบหนา ผิวกลีบเป็นมันสีส้ม หรือสีเหลืองส้ม ขนาดดอกโตประมาณ
11.5 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นช่อ ช่อหนึ่งอาจมีมากกว่า
50 ดอก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
|
![](../images/other/Ascocentrum-miniatum1.jpg) |
Ascocentrum
miniatum
|
|
![](../images/other/asctm_ampulaceum1.jpg) |
Ascocentrum
ampullaceum
|
|
เข็มม่วง
Ascocentrum ampullaceum
พบตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี ที่ระดับความสูงกว่าเข็มแดง
เข็มม่วงมีลำต้นตั้งแข็ง ใบแบนกว้าง ปลายตัดและมีฟันแหลมๆ
ไม่เท่ากันทลายฟัน ใบยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ
2 เซนติเมตร ใบสีเขียวคล้ำ ในฤดูแล้งใบจะมีจุดสีม่วงเล็กน้อย
ดอกสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นเป็นสีเดียวกับดอก เดือยดอกยาวดอกโตประมาณ
2 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งตรงรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร
ดอกแน่น ช่อหนึ่งมีประมาณ 30 ดอก มักออกดอกบริเวณส่วนล่างของลำต้น
ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ดอกบานทนประมาณ 2 สัปดาห์
|
เข็มหนู
Ascocentrum semiteretifolium
เป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นแบบใบกลม
มีร่องลึกทางด้านบนของใบ ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร มีดอกสีม่วงอ่อน
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างหายาก
ลักษณะของต้นและดอกไม่เป็นที่นิยมของนักปลูกเลี้ยง
|
|
กล้วยไม้สกุลเข็มเป็นกล้วยไม้ที่ดอกมีสีสันสดใส
มีช่อดอกแข็งชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นเป็นระเบียบ
สามารถให้ดอกพร้อมกันได้หลายช่อ ปลูกเลี้ยงง่าย จึงนิยมนำกล้วยไม้สกุลเข็ม
(Ascocentrum) ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า
(Vanda) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมแอสโคเซ็นด้า
(Ascocenda) ซึ่งจะทำให้ได้กล้วยไม้ที่มีสวยงามขึ้น
ออกดอกดกขึ้น ดอกบานทนและปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น
ลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับแรก
หมายถึงแอสโคเซ็นด้าที่เกิดจากการผสมระหว่างแวนด้ากับเข็มโดยตรง
เป็นแอสโคเซ็นด้าที่มีสายพันธุ์แวนด้าและเข็มอย่างละครึ่ง แอสโคเซ็นด้าระดับแรกมีคุณสมบัติเด่นอยู่หลายประการ
เช่น สีของดอกที่สดใสสวยสะดุดตา สำหรับรายละเอียดต่างๆ เช่นจุดประ
หรือแต้มสีต่าง ที่ปรากฏบนดอกแวนด้าจะเลือนลางหรือเหลือเพียงจุดละเอียดประปรายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขนาดของดอกจัดอยู่ในประเภทดอกขนาดกลาง (intermediate type) ช่อดอกรูปทรงกระบอกตั้ง
มีจำนวนดอกภายในช่อมากกว่าแวนด้า แอสโคเซ็นด้าระดับนี้จะมีนิสัยเลี้ยงง่าย
โตเร็ว และให้ดอกตลอดทั้งปีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เช่น
- แอสโคเซ็นด้า คาธี เออนี่
(Ascoda Kathy Arne) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า เจเนท
ฟูกูโดะ (V. Janet Fukudo)
กับ เข็มแดง (Asctum currvifolium)
- แอสโคเซ็นด้า เมม จิม วิลกินส์
(Ascoda Mem Jim Wilkins) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า
เจนนี่ ฮาชโมโตะ (V. Jennie
Hashimoto) กับ เข็มแดง
(Asctum curvifolium)
- แอสโคเซ็นด้า ฟลอริด้า ซันเซต (Ascoda
Florida Sunset) เป็นลูกผสมระหว่างแวนด้า เจฟฟรีย์
(V.Feffrey) กับ เข็มแดง
(Asctum curvifolium)
- แอสโคเซ็นด้า ครายเซ่ เป็นลูกผสมระหว่าง
แวนด้าลาเม็ลเลต้า กับ เข็มแสด
- แอสโคเซ็นด้า สาคริก เป็นลูกผสมระหว่าง
แวนด้าเซนเดอร์เรียน่า กับ เข็มแสด
- แอสโคเซ็นด้า เบบี้ บลู
(Ascda Baby Blue) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า เซอรูเลสเซ็นส์
หรือ ฟ้ามุ่ยน้อย (V. coerulescens)
กับเข็มม่วง
ลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสอง
หมายถึงลูกผสมเอสโคเซ็นด้าที่เกิดจากการใช้แอสโคเซ็นด้าระดับแรกที่ปลูกเลี้ยงจนออกดอกแล้วมาผสมกลับไปหาแวนด้าใบแบนหรือเข็มอีกที
ลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสองที่เกิดจากการผสมกลับไปหาแวนด้าพบว่า
มีขนาดต้นโตขึ้น ขนาดดอกใหญ่ขึ้น บางต้นมีขนาดดอกเท่าแวนด้า
ส่วนลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสองที่เกิดจากการผสมกลับไปหาเข็มพบว่า
ต้นมีขนาดและรูปทรงเล็กลง ทั้งขนาดดอกก็เล็กลงกว่าแอสโคเซ็นด้าระดับแรก
แต่สีดอกจะดูสดใสสะดุดตาขึ้น สำหรับลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสองมีดังนี้
- แอสโคเซ็นด้า มีด้าแซนด์ (Ascda.
Medasand) เป็นลูกผสมระหว่างแอสโคเซ็นด้า มีด้า อาร์โนลด์
(Ascda. Meda Anold)
กับ แวนด้า แซนเดอร์เรียน่า
(V. Sanderiana)
- แอสโคเซ็นด้า จิ้ม ลิ้ม
(Ascda. Jim Lim) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า มีด้า
อาร์โนลด์ (Ascda. Meda Arnold)
กับ แวนด้า เบนโซนิอิ (V. bensonii)
- แอสโคเซ็นด้า บีวิทเชด
(Ascda. Bewitched) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า
มีด้า อาร์โนลด์ (Ascda. Meda
Arnold) กับ แวนด้า บิล ซัตตัน
(V. Bill Sutton)
- แอสโคเซ็นด้า ซาราวัค (Ascda.
Sarawak) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า มีด้า อาร์โนลด์
(Ascda. Arnold) กับ แวนด้าบอร์เนียว(V.
Borneo)
- แอสโคเซ็นด้า ลิเลียน ยูริโกะ นิวิอิ
(Ascda. Lilian Yuriko Nivei)
เป็นลูกผสมระหว่างแอสโคเซ็นด้า โอฟิเลีย
(Ascda. Ophelia) กับ แวนด้าบอสชิอิ (V.
Boschii)
- แอสโคเซ็นด้า แยบ กิม ไฮ (Ascda.
Yap Kim Hei) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า โอฟิเลีย
(Ascda. Ophelia) กับ
แวนด้า เซอรูเลีย หรือ ฟ้ามุ่ย (V.
coerulea)
|