การขยายพันธุ์กล้วยไม้


          เพื่อประโยชน์หลายประการคือ เพื่อเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้กล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้นานจนเป็นกอใหญ่และมีสภาพทรุดโทรมให้กลับมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และเพื่อเป็นการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ให้ได้กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่ดีขึ้น การขยายพันธุ์กล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธี แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ ซึ่งในแต่ละแบบแต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายและผลที่ได้แตกต่างกัน


การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร


          หมายถึง การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ที่ไม่ใช่ผลจากการผสมเกสรไปขยายพันธุ์ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้ต้นใหม่ที่มีสายพันธุ์เหมือนต้นพันธุ์เดิมทุกประการ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์กล้วยไม้ต้นที่มีคุณลักษณะดีอยู่แล้ว เช่น มีความสวยงามเป็นพิเศษ หรือมีลักษณะที่เหมาะสมแก่การเป็นกล้วยไม้ตัดดอก

การขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยไม่มีการผสมเกสรแบ่งวิธีการขยายพันธุ์ตามลักษณะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ดังนี้

การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทแตกกอ       
           กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบประเภทแตกกอ หรือแบบซิมโพเดียล เช่น หวาย แคทลียา เมื่อหน่อ หรือลูกกล้วยใดผลิดอกและต้นเริ่มร่วงโรย หน่อนั้นจะแตกหน่อใหม่ออกมาทดแทนทำให้กอแน่นขึ้น หากปล่อยให้กอแน่นเกินไปกล้วยไม้อาจทรุดโทรม เพราะมีธาตุอาหารไม่เพียงพอ เมื่อเห็นกอแน่นควรตัดแยกไปปลูกใหม่จะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ได้กล้วยไม้เพิ่มขึ้น และทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามดี การตัดแยกกล้วยไม้ไม่ควรทำในช่วงที่กล้วยไม้พักตัวในช่วงฤดูหนาว ควรทำในช่วงต้นฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้เจริญเติบโตดีและแตกหน่อใหม่ เครื่องมือที่ใช้ในการขยายพันธุ์คือมีดและปูนแดง สำหรับการขยายพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธีคือ

 

1. การตัดแยกลำหลัง
           เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้ได้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอที่มีลำลูกกล้วย เช่น กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลหวาย สกุลออนซิเดี้ยม เมื่อปลูกเลี้ยงนานจะมีกอขนาดใหญ่ขึ้นและมีลำลูกกล้วยมากขึ้น ถ้าไม่มีการตัดแยกออกจะทำให้ต้นทรุดโทรมและออกดอกน้อย การตัดแยกลำหลังนอกจากจะเป็นการขยายพันธุ์แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้กล้วยไม้เจริญเติบโตเร็วขึ้นและออกดอกง่ายขึ้นด้วย

          การตัดแยกลำหลัง กล้วยไม้ที่จะตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 4 ลำ เพราะการตัดแยกแต่ละต้นที่ตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 2 ลำ และควรตรวจดูตาที่โคนลำหลังถ้าตาแห้งตายไปแล้วการตัดแยกจะไม่ได้ผล ใช้มีดหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ชนิดใบบางที่คมๆ สอดเข้าไประหว่างลำลูกกล้วยแล้วตัดส่วนของเหง้าให้ขาดจากกัน ใช้ปลายมีดแบนๆ ป้ายปูนแดงแล้วทาที่บาดแผลให้ทั่ว เพื่อให้แผลแห้งและเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะเข้าทำลายทางบาดแผลด้วย เนื่องจากลำหลังเป็นลำแก่ที่อยู่ในระยะฟักตัว ถ้ายกไปปลูกเลยรากแก่อาจจะชำรุดได้ รากใหม่ก็ไม่มีโอกาสเจริญออกมา จะทำให้การแตกหน่อล่าช้าและได้หน่อใหม่ที่ไม่แข็งแรง การตัดแยกเพื่อให้เกิดลำใหม่เร็วควรทำในช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นกล้วยไม้เริ่มจะเกิดหน่อใหม่หลังจากฟักตัวในช่วงฤดูหนาว หน่อใหม่จะเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมที่จะยกออกไปปลูกได้ในช่วงฤดูฝนพอดี

 

 

2. การตัดแยกลำหน้า
          เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอทุกชนิด ลำหน้าเป็นลำกล้วยไม้ที่กำลังเจริญเติบโตและเป็นลำที่จะให้ดอก จึงไม่ค่อยนิยมตัดแยกลำหน้าไปปลูกใหม่ นอกจากมีความจำเป็นในบางกรณี เช่น กล้วยไม้เจริญเติบโตเป็นกอใหญ่จนเต็มล้นกระถางปลูกหรือเครื่องปลูกเน่าเปื่อยผุพัง จำเป็นต้องรื้อออกจากกระถางเก่าทั้งหมดแล้วนำไปตัดแบ่งแยกปลูกใหม่ หรือเป็นการตัดแยกลำหน้าเพื่อจำหน่ายซึ่งได้ราคาสูงกว่าการจำหน่ายกล้วยไม้ลำหลัง

วิธีการตัดแยกลำหน้า
ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการแยกลำหลังไปปลูก คือปล่อยให้ลำหน้าเจริญเต็มที่จนถึงสุดขีดแล้วจะแตกหน่อใหม่จากตาจนกระทั่งหน่อที่เกิดใหม่มีรากโผล่ออกมาจึงตัดแยกไปปลูก โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดแยกลำหน้า 2 ลำติดกัน แล้วแยกไปปลูกได้เลย ซึ่งต่างจากการตัดแยกลำหลังที่ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้แตกหน่อใหม่ก่อนจึงจะยกไปปลูกได้ ระยะเวลาที่เหมาะที่สุดในการตัดแยกลำหน้าคือ เมื่อลำหน้าสุดมีรากและรากยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร การนำลำหน้าไปปลูกควรระวังอย่าให้รากอ่อนของลำหน้าสุดบอบช้ำ


การตัดชำ

3. การตัดชำ
          การขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดชำใช้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอบางชนิด เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย ซึ่งเมื่อนำลำลูกกล้วยมาปักชำในที่เหมาะสม ตาที่อยู่ตามข้อของลำลูกกล้วยจะแตกออกเป็นลำใหม่ได้ สำหรับลำหวายที่จะนำมาปักชำ ควรเป็นลำหลังที่ใบร่วงหมดแล้ว ถ้ายังมีใบติดอยู่ควรปลิดออกให้หมด และตัดรากออกให้หมด นำมาปักชำในกระบะทรายหยาบ หรือกาบมะพร้าวอัดในแนวตั้ง โดยให้โคนลำฝังลงไปประมาณ 2-3 ซม. ห่างกันประมาณ 4-5 ซม. เก็บไว้ในที่มีแสงแดดค่อนข้างจัด ให้โดนแดดเต็มที่เกือบครึ่งวัน รดน้ำให้ชุ่มวันละ 2-3 ครั้ง ตาที่อยู่ใกล้ปลายลำจะแตกเป็นลำใหม่ เรียกว่า "ตะเกียง" เมื่อลำตะเกียงเริ่มเกิดรากจึงตัดนำไปปลูกได้

 

 

 

การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ

          กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบประเภทไม่แตกกอ หรือแบบโมโนโพเดียล ได้แก่ ช้าง เข็ม เอื้องกุหลาบ แวนด้า การขยายพันธุ์โดยการตัดแยกทำได้หลายวิธี เช่น ถ้ามีหน่อออกมาจากโคนต้น ให้ตัดหน่อโดยติดรากไปด้วย 1-3 ราก แล้วนำไปปลูกใหม่ หรือใช้วิธีตัดยอดให้ติดราก 1-2 ราก แล้วนำไปปลูกใหม่ หากตัดยอดออกไปแล้วมีหน่อเกิดขึ้นก็สามารถแยกหน่อออกไปปลูกได้เช่นกัน

 
 

1. การตัดยอด
          เป็นการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กับกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลเสือโคร่ง สกุลแมลงปอ และสกุลเรแนนเธอร่า กล้วยไม้ที่จะทำการตัดยอดควรควรเป็นกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตแข็งแรง และสูงพอสมควร มีรากติดอยู่กับส่วนยอดที่ต้องการตัดอย่างน้อย 2-3 รากขึ้นไป ถ้ามีรากติดอยู่กับส่วนยอดยิ่งมากยิ่งดี เพราะเมื่อนำยอดไปปลูกแล้วจะทำให้แข็งแรง และตั้งตัวเร็วขึ้น วิธีการตัดยอดโดยใช้มีด หรือกรรไกรที่คม และสะอาดตัด แล้วใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดทั้งส่วนต้น และส่วนยอดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าบาดแผล นำส่วนยอดไปปลูกในที่ร่ม หรือที่ที่มีแสงแดดน้อยกว่าปกติจนกว่ายอดนั้นจะตั้งตัวได้ จึงนำไปไว้ในที่ที่มีสภาวะปกติซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน สำหรับส่วนต้นเมื่อนำไปปลูกก็จะมีหน่อหรือตะเกียงเกิดขึ้น

 

การแยกหน่อหรือตะเกียง

2. การแยกหน่อหรือตะเกียง
          เนื่องจากกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอมีการเจริญเติบโตทางยอด คือยอดจะยาวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และจะมีการแตกหน่อจากตาที่อยู่ข้างลำต้นเป็นหน่อ หรือตะเกียง สำหรับต้นที่ไม่มีหน่อ หรือตะเกียงเมื่อถูกตัดยอดไปปลูกจะทำให้ต้นที่ถูกตัดแตกหน่อได้ง่ายขึ้น หน่อ หรือตะเกียงนี้สามารถตัดแยกไปปลูกใหม่ได้ การตัดแยกหน่อ หรือตะเกียงไปปลูกใหม่ควรเป็นหน่อ หรือตะเกียงที่เจริญเติบโตพอสมควร มีรากที่แข็งแรง และยาวพอสมควรติดอยู่อย่างน้อย 2-3 รากและมีใบ 2-3 คู่ ใช้มีดหรือกรรไกรคมๆ ตัดยอดกล้วยไม้ที่มีตะเกียงติดอยู่ ตรงบริเวณใต้ตะเกียงประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือตัดเฉพาะตะเกียงที่มีหน่อติดอยู่ ใช้ปูนแดงทาที่บาดแผลเพื่อป้องกันโรค นำหน่อ หรือตะเกียงไปปลูกไว้ในที่ร่มจนกว่าจะตั้งตัวได้จึงนำไปไว้ในที่มีสภาพเหมาะสมตามปกติ ฤดูกาลที่เหมาะแก่การตัดแยก คือ ต้นฤดูฝนเพราะเป็นฤดูที่กล้วยไม้กำลังเจริญเติบโตเมื่อตัดแยกไปปลูกรากจะเจริญเกาะเครื่องปลูกได้เร็วกว่าฤดูอื่น ไม่ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

 

การเพาะเนื้อเยื่อ

          การเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม ้หรือที่เรียกกันว่า "การปั่นตา" เป็นการขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่ทำให้ได้ต้นที่มีลักษณะพันธุ์เหมือนเดิมเป็นปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว โดยการนำเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆ ของกล้วยไม้ เช่น ตายอด ตาข้าง ปลายใบอ่อน มาเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อและมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์วิธีนี้อาจมีโอกาสกลายพันธุ์ไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงแต่ก็พบได้ยาก

          ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนำไปปลูกได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 10 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ ความสมบูรณ์ของหน่อ เทคนิคในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สูตรอาหารสังเคราะห์ และสภาพแวดล้อม ขั้นตอนสำคัญในการเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ พอสรุปได้ดังนี้

  • เลือกชิ้นส่วนของกล้วยไม้ที่มีเนื้อเยื่อเจริญที่สามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้ เช่น กล้วยไม้สกุลหวายใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ดอกอ่อน กล้วยไม้คัทลียาใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ปลายใบอ่อน กล้วยไม้สกุลแวนด้าและลูกผสมใช้ยอดอ่อนที่มีตาข้างและตายอด ช่อดอกอ่อน เป็นต้น

  • ฟอกฆ่าเชื้อที่ผิวชิ้นส่วนกล้วยไม้ให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ก่อนตัดส่วนเยื่อเจริญออกไปเพาะเลี้ยง

  • การเลี้ยงชิ้นส่วนหรือตาในระยะแรก เมื่อฟอกฆ่าเชื้อแล้วใช้มีดเจาะตาขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร นำไปเลี้ยงในอาหารเหลวหรืออาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ตาจะมีโปรโตคอร์ม (protocorm) สีเขียวแตกออกมารอบๆ ระยะนี้ต้องเปลี่ยนอาหารทุกสองสัปดาห์

  • การเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์มโดยคัดเลือกโปรโตคอร์มที่เป็นก้อนกลมไม่มีใบยอด ไปเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์ม ถ้าโปรโตคอร์มพัฒนาเป็นยอดต้องตัดยอดทิ้งเพื่อให้เกิดการแตกโปรโตคอร์ม

  • การเลี้ยงโปรโตคอร์มให้เป็นต้น เมื่อได้จำนวนโปรโตคอร์มตามต้องการแล้ว ย้ายไปเลี้ยงในอาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ให้โปรโตคอร์มแต่ละหน่วยเจริญเติบโตเป็นต้นกล้ามีใบยอดและราก เมื่อต้นสูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็คัดแยกแต่ละต้นย้ายไปเลี้ยงในวุ้นอาหารสูตรถ่ายขวดประมาณ 50 ต้นต่อขวด เพื่อให้เจริญเติบโตแข็งแรง พร้อมที่จะนำออกปลูกภายนอกได้

 

 

การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ด



          การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรน ี้อาจทำให้ได้คุณภาพของกล้วยไม้ที่ผสมได้เปลี่ยนไปบ้างแต่ไม่มากนัก การขยายพันธุ์เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของกล้วยไม้ให้ดีขึ้น จำเป็นต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ดีมาผสมกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อนำแวนด้า 2 ต้น ต้นหนึ่งดอกใหญ่ แต่สีไม่สด ช่อดอกไม่ยาว ส่วนอีกต้นหนึ่งดอกเล็ก แต่สีสด ก้านช่อยาว นำมาผสมกัน เพื่อให้ได้กล้วยไม้ที่มีลักษณะดีขึ้น ดอกใหญ่ สีสด ก้านช่อยาวและเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ผลที่ได้จะสำเร็จตามต้องการหรือไม่ต้องรอจนกระทั่งกล้วยไม้ที่ผสมใหม่นั้นออกดอก ในการผสมพันธุ์กล้วยไม้จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • กล้วยไม้ที่ผสมกันได้ต้องเป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญแบบเดียวกัน เช่น กล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดียลซึ่งเจริญเติบโตทางยอดต้องผสมกับกล้วยไม้ประเภทโมโนเดียลด้วยกัน จะผสมกับกล้วยไม้ประเภทซิมโพเดียลซึ่งเจริญเติบโตแบบแตกหน่อออกมาด้านข้างไม่ได้

  • กล้วยไม้ที่ผสมกันถ้าอยู่ในสกุลเดียวกันจะผสมกันได้ง่ายกว่า เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าผสมกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าด้วยกัน หรือกล้วยไม้สกุลข้างผสมกับสกุลช้างด้วยกัน

  • การผสมเกสรกล้วยไม้ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่เจริญเติบโตเต็มที่ ถ้าต้นเล็กหรือลำต้นไม่แข็งแรงอาจทำให้อาหารที่มาเลี้ยงฝักไม่เพียงพอ เป็นผลให้ฝักไม่สมบูรณ์ เมื่อนำเมล็ดไปเพาะแล้วลูกไม้ที่เกิดมาอาจไม่แข็งแรงเลี้ยงยาก

  • ระยะเวลาที่เหมาะสมและความสมบูรณ์ของดอก คือ ดอกกล้วยไม้ที่บานเต็มที่ทั้งดอกแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ โดยลักษณะดอกที่บานเท่ากัน ไม่บานน้อยหรือบานมานานจนจวนจะโรย สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำการผสมพันธุ์ควรเป็นเวลาเช้า แสงแดดยังไม่จัดและไม่มีฝนตก

    จุดมุ่งหมายของการขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยวิธีการเพาะเมล็ดพอสรุปได้ดังนี้

    1. ผู้ขยายพันธุ์ต้องการที่จะเพิ่มปริมาณของกล้วยไม้ให้มากขึ้น เหตุที่ได้ปริมาณมากก็เพราะว่าในฝักของกล้วยไม้ฝักหนึ่ง ๆ นั้นมีเมล็ดอยู่มากมายเมื่อนำเมล็ดไปเพาะก็จะได้ต้นกล้วยไม้จำนวนมากตามปริมาณที่ต้องการ

    2. เพื่อต้องการให้ได้กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ที่มีคุณลักษณะแปลก ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน อาจจะมีคุณลักษณะแปลก ๆ ที่ดีกว่าเดิมหรือเลวกว่าเดิมก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และปริมาณที่ได้

    3. เพื่อต้องการให้ได้กล้วยไม้ลูกผสมที่มีคุณลักษณะดีเด่น เช่น ปลูกเลี้ยงง่าย ทนทานต่อโรคและแมลง ดอกใหญ่ รูปร่างลักษณะดอกดี สีดอกเข้มสดใสสม่ำเสมอสวยงาม ช่อดอกใหญ่ ระเบียบดอกดี กลีบดอกหนา บานทน และให้ดอกตลอดทั้งปี เป็นต้น

    4. เพื่อต้องการให้ได้กล้วยไม้พันธุ์แท้ที่มีคุณลักษณะดีเด่นกว่าพ่อ และแม่ ซึ่งเป็นการคัดเลือกพันธุ์กล้วยไม้แท้ให้มีคุณลักษณะดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

วิธีการผสมเกสร

          เมื่อได้เตรียมกล้วยไม้ที่เป้นพ่อแม่พันธุ์ไว้เรียบร้อยแล้วจึงทำการผสมพันธุ์ แต่ก่อนที่จะทำการผสมพันธุ์ดอกกล้วยไม้นั้นจะต้องบานเต็มที่ ดอกที่เป็นแม่พันธุ์จะต้องบานอยู่กับต้น ส่วนดอกที่เป็นพ่อพันธุ์นั้นอาจจะเด็ดมาจากต้นอื่นเพียงหนึ่งดอก หรือสองดอกก็ได้

          ส่วนประกอบสำคัญของการผสมพันธุ์กล้วยไม้คือ เกสรตัวผู้ และยอดเกสรตัวเมียซึ่งอยู่บริเวณปลายเส้าเกสรอันเดียวกัน ก่อนทำการผสมเกสรกล้วยไม้จำเป็นต้องตรวจสอบดูว่าทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียจะต้องสะอาดทั้งคู่ ไม่มีตำหนิ หรือแสดงว่ามีส่วนสกปรกโดยเฉพาะเชื้อรารบกวนโดยเด็ดขาด

           ในขณที่ดอกบานสดใสพร้อมที่จะรับการผสมนั้นทั้งเกสรตัวผู้และยอดเกสรตัวเมียจะต้องอยู่ในสภาพที่สดใส และอิ่มเอิบด้วยกันทั้งคู่ การผสมเกสรควรกระทำในเวลาเช้าตรู่ซึ่งเป็นเวลาที่ความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ อุณหภูมิไม่ร้อนรวมทั้งน้ำเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของต้นและดอกกำลังอยู่ในสภาพอิ่มเอิบสดใส หรือกำลังเหมาะ มือของผู้ผสมจะต้องล้างให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง ไม้แหลมที่ใช้เขี่ยเกสรตัวผู้อาจใช้ไม้จิ้มฟันก็ได้ แต่จะต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดและแห้ง

            เกสรตัวผู้ของกล้วยไม้ประเภทแตกกอ เช่น สกุลหวาย และแคทลียามีลักษณะแตกต่างไปจากเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ เช่น แวนด้า คือ เกสรของกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอโดยทั่วไปไม่ว่าสกุลใดก็ตามจะพบก้านเกสรตัวผู้เหนียว ที่โคนก้านมีเยื่อบาง ๆ ลักษณะเป็นจาน สามารถที่จะติดสิ่งใดก็ได้ที่ไปสัมผัสโดยง่าย ส่วนเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้ประเภทแตกกอนั้นมีก้านสั้นมากและไม่มีเยื่อบาง ๆ อยู่

          ในการที่จะเคาะเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้เพื่อนำมาใช้ในการผสมพันธุ์นั้น หากเป็นเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้ประเภทแตกกอจำเป็นจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะตกหล่น และสูญหายไปได้โดยง่าย

 

ขั้นตอนการผสมเกสร
          
           ต้องเคาะเกสรตัวผู้ของดอกที่ต้องกให้ผสมเกสรหรือให้ถือฝักออกเสียก่อนทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผสมตัวเองขึ้นได้ แล้วจึงเคาะเอาเกสรตัวผู้จากดอกของอีกต้นหนึ่งซึ่งถือเป็นพ่อพันธุ์มาทำการผสม ก่อนจะเคาะเกสรตัวผู้ของต้นพ่อออกมาผสมนั้น หากเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอเมื่อใช้ปลายไม้จิ้มฟันที่สะอาดสะกิดตรงจะงอยที่ส่วนล่างของฝาครอบเกสรตัวผู้ซึ่งอยู่ตรงปลายเส้าเกสรออก จะพบจานซึ่งมีลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ จะดูดติดปลายไม้ออกมา และดึงเอาเกสรตัวผู้ซึ่งมีอยู่ 1 คู่ติดออกมาด้วย ใช้มือสะอาดค่อย ๆ ปลดเอาเกสรตัวผู้จากปลายไม้วางลงบนกระดาษ หรือในอุ้งมือที่สะอาด แล้วใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยน้ำเหนียว ๆ จากยอดเกสรตัวเมียของดอกอื่น แล้วนำปลายไม้มาแตะที่เกสรตัวผู้ในอุ้งมือนั้น น้ำเหนียวที่ปลายไม้จะช่วยทำให้เกสรตัวผู้ติดปลายไม้ขึ้นมาได้ง่าย แล้วจึงนำปลายไม้ที่มีเกสรตัวผู้ติดอยู่ไปวางใส่ในแอ่งเกสรตัวเมียซึ่งเป็นยอดของเกสรตัวเมียที่อยู่ส่วนใต้ของปลายเส้าเกสรของดอกที่ประสงค์จะให้ถือฝัก และได้เคาะเอาเกสรตัวผู้ของตัวเองออกไปหมดแล้ว

           การที่ต้องปลดเอาเกสรตัวผู้ออกจากปลายไม้เสียก่อนก็เพราะว่าถ้าใช้ปลายไม้เคาะเกสรตัวผู้พวกกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอแล้วนำไปใส่ในแอ่งของตัวเมียโดยตรง ขณะชักปลายไม้ออกเกสรตัวผู้จะติดกลับออกมาด้วย เนื่องจากเยื่อทีมีลักษณะคล้ายจานซึ่งอยู่ที่ก้านเกสรตัวผู้นั้นจะติดปลายไม้อย่างแน่นหนา

          ส่วนการผสมเกสรกล้วยไม้ประเภทแตกกอนั้นจะต้องระมัดระวังไปคนละแง่ คือ เนื่องจากเกสรตัวผผู้ของกล้วยไม้ประเภทนี้ไม่มีเยื่อที่ก้านที่จะดูดติดปลายไม้ได้เลย ถ้าหากใช้ปลายไม้ไปเปิดฝาครอบเกสรตัวผู้ออกทำให้เกสรตัวผู้ หรือทั้งฝาครอบด้วยอาจจะตกลงสู่พื้นดิน ทำให้สกปรก หรือสูญหายได้

          ดังนั้นก่อนที่จะเคาะเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้ประเภทนี้เพื่อนำไปผสมพันธุ์จึงควรใช้อุ้งมือที่สะดอาดรองรับอยู่ใต้ดอก หากเกสรหลุดตกก็จะหล่นอยู่ในอุ้งมือ แล้วจึงใช้ปลายไม้แตะน้ำเมือกเหนียว ๆ จากยอดเกสรตัวเมียของดอกอื่น นำปลายไม้มาแตะที่เกสรตัวผู้ซึ่งอยู่ในอุ้งมือนั้น เกสรตัวผู้ก็จะติดน้ำเหนียว ๆ ไปกับปลายไม้ และนำไปผสมโดยวางลงในแอ่งยอดเกสรตัวเมียของดอกที่ต้องการผสม

          หลังจากผสมเกสรประมาณ 12 ชั่วโมง แอ่งยอดเกสรตัวเมียจะขยายตัวใหญ่ขึ้น น้ำเหนียว ๆ ในแอ่งจะข้นคล้ายแป้งเปียก และปริมาณเพิ่มขึ้น สีของดอกจะซีดลง และดอกจะเหี่ยว ถ้าผสมไม่ติด ดอกจะร่วงหลุดไป ถ้าผสมติดก้านดอกส่วนที่เป็นรังไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และขยายตัวเจริญไปเป็นฝักแม้ว่าจะผสมติด แต่บางครั้งฝักจะเหลือง และร่วงก่อนแก่ ส่วนฝักที่เจริญก็อาจจะอยู่จนแก่ แต่ไม่มีเมล็ดอยู่ภายใน หรือมีเมล็ดอยู่บ้างเล็กน้อย หรือมีเมล็ดสมบูรณ์มากมาย ในช่วงที่กลีบดอกเหี่ยวนั้น ควรใช้กรรไกรเล็ก ๆ ตัดออก เพราะถ้าปล่อยไว้ให้ถูกน้ำอาจเน่า และเกิดเชื้อราลุกลามเข้าไปทำลายดอก ซึ่งได้รับการผสมเสร็จใหม่ ๆ ได้ง่าย

          ส่วนการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่การผสมเกสร การถือฝัก จนถึงฝักแก่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความแตกต่างทางพันธุกรรมของต้นพ่อแม่ที่นำมาผสมเกสร สภาพความสมบูรณ์ของต้น การดูแลรักษา และสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง สำหรับการถือฝักนั้น ถ้าเป็นฝักกล้วยไม้ประเภทแตกกอก้านฝักจะห้อย ทำให้ปลายฝักชี้ลงด้านล่าง ถ้าเป็นฝักกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ ก้านฝักจะตั้งแข็ง ทำให้ปลายฝักชี้ขึ้นด้านบน

          อายุของฝักนับตั้งแต่ผสมเกสรจนถึงวันที่เมล็ดแก่ตามธรรมชาติ จะมีระยะเวลาเร็วช้าแตกต่างกันตามชนิดของกล้วยไม้ และตามสภาพแวดล้อม เช่น หวายฟอร์มกลม และหวายกลีบแคบลุกผสม ใช้เวลา 4 - 5 เดือน สกุลกุหลาบ และแวนด้าลูกผสม ใช้เวลา 7 - 10 เดือน สกุลช้าง ใช้เวลา 10 - 14 เดือน แวนด้าฟ้ามุ่ย ใช้เวลา 16 - 18 เดือน เป็นต้น เมื่อฝักแก่ผิวฝักซึ่งแต่เดิมเป็นสีเขียว จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง แล้วเป็นสีน้ำตาลในที่สุด แต่การเก็บฝักมาเพาะในปัจจุบันไม่นิยมปล่อยทิ้งไว้จนแก่จัด ซึ่งอายุของฝักที่จะนำมาเพาะได้ดีควรมีอายุประมาณ 2 ใน 3 ของอายุฝักแก่ เช่น แวนด้าลูกผสมทั่วไป ควรเก็บฝักมาเพาะเมื่ออายุ 5 - 6 เดือน ฟ้ามุ่ย 10 - 12 เดือน เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะถือเป็นเกณฑ์ที่ตายตัวไม่ได้ สำหรับฝักอ่อนที่ตัดมานั้น ถ้าเป็นไปได้ เมื่อตัดมาแล้วรควรเพาะทันที ถ้าจำเป็นต้องเก็บไว้ ควรห่อด้วยกระดาษนิ่มแล้วใส่ถุงรัดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ในช่องเก็บผักของตู้เย็น หากทิ้งไว้ในสภาพอากาศร้อยเมล็ดอ่อนภายในฝักอาจตายได้

การเพาะเมล็ดกล้วยไม้

          แต่เดิมการเพาะเมล็ดกล้วยไม้จะใช้วิธีโรยเมล็ดรอบ ๆ โคนต้นกล้วยไม้ เพื่อให้เชื้อราที่อยู่รอบ ๆ ต้นสามารถเจริญเข้าไปในเมล็ดให้อาหารแก่คัพภะ (embryo) ทำให้เมล็ดสามารถงอกได้ ซึ่งในเมล็ดกล้วยไม้มีอาหารสะสมอยู่น้อยไม่เพียงพอต่อการงอก ถ้าไม่ใช้วิธีนี้เมล็ดก็จะไม่งอก วิธีนี้เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเชื้อราได้ที่อยู่อาศัย และเมล็ดก็ได้รับอาหาร แต่การเพาะเมล็ดโดยวิธีนี้จะให้การงอกไม่ดี และค่อนข้างจำกัด จนกระทั่งได้ค้นพบ และประสบความสำเร็จในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในอาหารสังเคราะฆ่าเชื้อที่อยู่ภายในหลอดแก้ว ซึ่งอาหารประกอบด้วยแร่ธาตุหลายชนิด น้ำตาล และวุ้น โดยไม่ต้องอาศัยเชื้อรา วิธีนี้จะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดสูงกว่าวิธีเดิมมาก ส่งผลให้การผสมพันธุ์กล้วยไม้เจริญก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น และการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ก็ทำควบคุ่ไปกับการเพาะเมล็ดบนอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อดังกล่าว

          การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ทำได้ด้วยการเพาะโดยใช้อาหารที่มีแร่ธาตุ และน้ำตาลที่จำเป็นต่อการงอกของเมล็ด ซึ่งอาหารที่สามารถนำมาเพาะเมล็ดได้นั้มีหลายสูตรด้วยกัน แต่สูตรที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ สูตร Modified Vacin and Went ( 1949 ) เนื่องจากใช้สารเพียงไม่กี่ตัวจึงเตรียมได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูก โดยใส่วุ้นลงไปเพื่อให้อาหารแข็ง และต้องทำในสภาพที่ปลอดเชื้อ โดยฆ่าเชื้อด้วยการนึ่งในหม้อความดันไอน้ำ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 20 นาที ซึ่งเมล็ดกล้วยไม้สามารถเพาะได้ 2 วิธี คือ การเพาะฝักอ่อน และการเพาะเมล็ดแก่ สำหรับองค์ประกอบของสารเคมีในสูตร Modified Vacin and Went ( 1949 ) มีดังนี้

          ชื่อและสูตรสารเคมี                                 ปริมาณที่ใช้ในอาหาร 1 ลิตร

แคลเซียมฟอสเฟต ( Ca3 (Po4)2)                                              200 มิลลิกรัม

โปแตสเซียมไนเตรท (KNO3)                                                     525 มิลลิกรัม

โปแตสเซียมไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (KH2PO4)                            250 มิลลิกรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4.7H2O)                                          250 มิลลิกรัม

เฟอร์รัสซัลเฟต (FeSO4.7H2O)                                            27.85 มิลลิกรัม

ไดโซเดียมเอทธิลีนไดอามีนเตตราอะซีเตท (Na2EDTA)          37.25 มิลลิกรัม

แมงกานีสซัลเฟต (MnSo4.H2O)                                             5.70 มิลลิกรัม

น้ำตาลซูโครส (Sucrose)                                                            20 กรัม

น้ำมะพร้าว (Coconut water)                                                   150 มิลลิกรัม

วุ้น (Agar)                                                                               8 - 10 กรัม

pH ประมาณ 5 - 5.2

การเตรียมเมล็ดสำหรับใช้เพาะ

          เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย และเห็ดรามีอยู่ทั่วไปทั้งในดิน น้ำ และอากาศ และอาจเกาะอยู่ตามฝัก และเมล็ดกล้วยไม้ด้วย ดังนั้นก่อนที่จะนำเมล็ดกล้วยไม้ไปเพาะลงในวุ้นจึงจำเป็นต้องทำการเตรียมเมล็ดด้วยการทำความสะอาดเสียก่อน โดยนำไปฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเห็ดรา มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ผ่าฝักกล้วยไม้ออกจะมีเมล็ดอยู่ภายในฝัก เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมาก เมื่อมองดูด้วยตาเปล่าจะเห็นคล้ายเป็นผงฝุ่นละออง จากนั้นใช้แว่นขยายตรวจสอบความสมบูรณ์ของเมล็ดกล้วยไม้ ถ้าเป็นเมล็ดกล้วยไม้ที่สมบูรณ์จะมีลักษณะเต่งตึงอย่างเด่นชัด ส่วนเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะเพาะไม่งอก ลีบ ดังนั้นฝักใดมีเมล็ดลีบก็คัดออกไป       

2. นำเมล็ดกล้วยไม้ที่สมบูรณ์ออกจากฝักใส่ลงในขวดเล็ก ๆ ขนาดความจุประมาณ 15 - 25 ซีซี.

3. ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 20 volume ผสมกับน้ำกลั่นในอัตราส่วน 1 : 1 หรือ 1 : 2 เขย่าให้เข้ากัน แล้วเทลงในขวดเมล็ดกล้วยไม้ประมาณ 10 - 15 ซีซี. แล้วสังเกตดู ถ้าเห็นว่าเมล็ดกล้วยไม้ที่ปนอยู่กับน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หนาแน่น เมื่อนำไปเพาะลูกกล้วยไม้ที่เกิดขึ้นในวุ้นจะมีปริมาณมากและเบียดเสียดหนาแน่นเกินไปก็ให้เทออกเสียบ้าง แล้วเติมน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มีปริมาณพอเหมาะดีแล้ว จึงปิดขวด และเขย่านานประมาณ 10 - 20 นาที เพื่อให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ชำระล้าง และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเห็ดราที่เกาะอยู่กับเมล็ดกล้วยไม้ จากนั้นนำเมล็ดกล้วยไม้ลงไปขวดวุ้นทำการเพาะต่อไป

ขั้นตอนการเพาะ

          หมายถึงวิธีการนำเมล็ดกล้วยไม้เข้าไปไว้ในวุ้นในขวด เพื่อให้เมล็ดกล้วยไม้งอกเป็นต้นกล้วยไม้ต่อไป ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

1. นำขวดวุ้น และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการรมยาฆ่าเชื้อมาแล้วเข้าไปไว้ในตู้เพาะ และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 - 3 ชั่วโมง เพื่อให้แก๊สที่ใช้รมตู้เพาะได้ฆ่าเชื้อโรคพวกแบคทีเรีย และเห็ดราที่ติดเข้าไป ขวดวุ้นควรเรียงซ้อนกันให้เป็นระเบียบทางด้านซ้ายมือ

2. ล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ อีกครั้งหนึ่ง และทำการสวมถุงมือยาง ซึ่งได้นึ่งฆ่าเชื้อโรคแล้ว จากนั้นเอามือทั้งสองข้างสอดเข้าไปในตู้เพาะข้างละรู ใช้ยางรัดข้อมือติดกับปลายของผ้ารูปทรงกระบอกแบบแขนเสื้อเชิ้ตแขนยาว ซึ่งปลายปีกข้างหนึ่งติดอยู่กับรูสำหรับใช้มือสอดเข้าไปในตู้เพาะ

3. จุดตะเกียงแอลกอฮอล์ที่อยู่ในตู้เพาะ จากนั้นให้ใช้มือซ้ายจับขวดวุ้นไว้แล้วใข้นิ้วชี้ และหัวแม่มือขวาจับที่ดูด แล้วบีบดูดเมล็ดกล้วยไม้ซึ่งอยู่ปนกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้าไปไว้ในที่ดูด ส่วนนิ้วก้อยกับนิ้วนางมือขวาคีบจุดขวดเอาไว้

4.เปิดจุกขวดวุ้นออกมาพร้อม ๆ กับเอาปากขวดวุ้น อังลนไฟไว้ แล้วสอดที่ดูดเข้าไปในปากขวดวุ้น และบีบที่ดูดพ่นเมล็ดกล้วยไม้พร้อมทั้งไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้าไปในขวดวุ้น

5. เอาฝาจุกยางอังลนไฟ แล้วปิดฝาขวดทันที ฝาจุกยางนี้เจาะรูขนาด 3 - 5 มิลลิเมตรทะลุ มีสำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้ออุดไว้ตรงรู เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่วุ้นในขวด

6.จับขวดวุ้นค่อย ๆ เอียงไปมาให้เมล็ดกล้วยไม้ซึ่งปะปนอยู่กับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ไหลแผ่กระจายไปทั่วผิวหน้าวุ้นในขวด ทั้งนี้เมื่อเมล็ดกล้วยไม้งอกจะได้กระจายที่วขวดวุ้นอย่างสม่ำเสมอไม่กระจุกอยู่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป

7. นำขวดวุ้นที่ได้ทำการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ และวางเรียงซ้อนกันไว้ในตู้เพาะอีกด้านหนึ่ง คือ ทางด้านขวามือ ให้ห่างจากขวดวุ้นที่ยังไม่ได้ทำการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ ทำเช่นนี้จนเพียงพอแก่ความต้องการ หรือทำการเพาะจนหมดขวดวุ้นในตู้เพาะ

8. เมื่อเพาะเมล็ดกล้วยไม้ได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ให้ดับตะเกียงแล้วเปิดตู้เพาะนำขวดวุ้นที่ได้ทำการเพาะเมล็ดกล้วยไม้แล้วออกจากตู้เพาะไปเก็บไว้ในที่ได้เตรียมไว้แล้ว ซึ่งปกติจะอยู่ในที่ร่มภายในอาคารที่มีแสงสว่างเข้าถึงได้เต็มที่ อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าสถานที่สำหรับเก็บขวดวุ้นมีแสงสว่างน้อยอาจไม่เพียงพอแก่ความเจริญงอกงามของลูกกล้วยยไม้ในขวด ควรใช้หลอดนีออนไฟฟ้าช่วยเพิ่มแสงสว่างให้มากขึ้น

9. เขียนรหัส ชื่อพ่อแม่ของลูกกล้วยไม้ ชื่อเจ้าของ ตลอดวัน เดือน ปี ที่ทำการเพาะแล้วใส่ไว้ในขวด เพื่อให้ทราบถึงประวัติพ่อแม่ และลูกกล้วยไม้ในขวดนั้น ๆ

10. หลังจากเพาะเมล็ดประมาณ 15 - 30 วัน เมล็ดจะเริ่มมีสีเขียว และขยายตัวเกิดเป็นก้อน protocorms ( คล้ายหัวเผือก ) ถ้า protocorms อยู่กันแน่นมากก็ให้เคาะภาชนะจนแยกกระจายไปทั่วผิวอาหาร เพื่อให้ดูดอาหารไปใช้ได้อย่างทั่วถึง แต่ถ้า protocorms ยังขึ้นแน่นมากก็แบ่งออกแล้วย้ายลงอาหารขวดใหม่

การถ่ายขวดลูกกล้วยไม้

          หลังจากเพาะเมล็ดลงในขวดประมาณ 2 - 3 เดือน หรือเมื่อต้นกล้วยไม้มีใบให้เห็นชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องมีรากก็ได้ ต้องทำการถ่ายขวดลูกกล้วยไม้ใหม่ เพราะในช่วงนี้อาหารที่อยู่ในขวดเพาะเมล็ดอาจถูกใช้ไปหมด โดยสังเกตได้จากสีของ protocorms และสีของต้น และใบจะไม่เขียวสดใส และเริ่มเติบโตช้า และเนื่องจากลูกกล้วยไม้ที่งอกขึ้นมามักจะอยู่อย่างไม่มีระเบียบ บางจุดบาง หรือแน่นเกินไป จึงต้องย้ายลูกกล้วยไม้ลงบนอาหารสำหรับต้นกล้าซึ่งได้เพิ่มกล้วยหอมดิบเพื่อเร่งการเจริญเติบโต สำหรับิธีการถ่ายขวดลูกกล้วยไม้เป็นดังนี้

1. ทำการรมยาตู้เฉพาะด้วยด่างทับทิมและฟอร์มาลินก่อนที่จะดำเนินการถ่ายขวดลูกกล้วยไม้อย่างน้อย 1-3 ชั่วโมง

2. นำอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ตลอดจนจุกขวดยาง ช้อนสำหรับตักลูกกล้วยไม้ถ่ายขวด ซึ่งเป็นช้อนด้ามยาวทำด้วยอะลูมิเนียม หรือสแตนเลสปลายช้อนมีรูปร่างแบน และด้านข้างทำเป็นซี่ ๆ คล้ายส้อม 3 - 4 ซี่ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการตัดลูกกล้วยไม้ในขวดเพาะ นำไปวางเรียงในขวดใหม่

3. นำขวดวุ้นที่ใช้เป็นขวดถ่ายวางเรียงซ้อนกันไว้ในตู้เพาะทางซ้ายมือ และนำขวดลูกกล้วยไม้เข้าไว้ในตู้เพาะ

4. ล้างมือให้สะอาดแล้วสวมถุงยาง สอดมือทั้งสองข้างเข้าไปในตู้เพาะทางรูตู้เพาะข้างละมือ แล้วใช้ยางรัดของรดข้อมือติดกับปลายถุงมือ

5. จุดตะเกียงแอลกอฮอล์ เอาปากขวดเพาะเมล็ดกล้วยไม้ และปากขวดวุ้น (ขวดถ่าย) ลนอังไฟตะเกียง จากนั้นเปิดจุกขวดวุ้น และจุกขวดเพาะเมล็ดกล้วยไม้ออก ใช้ช้อนลนอังไฟแล้วนำไปตักลูกกล้วยไม้จากขวดเพาะ แยกลูกกล้วยไม้ที่เกาะติดกันเหลือเพียงต้นเดียวนำไปวางเรียงกันไว้บนวุ้นในขวดถ่าย โดยให้ห่างกันเล็กน้อยพอเหมาะจนเต็มขวด ซึ่งจะมีปริมาณลูกกล้วยไม้ประมาณ 60 - 80 ต้นต่อขวด เสร็จแล้วใช้จุกยางปิดขวดถ่าย ในขณะที่ทำการถ่ายขวดวุ้นนี้ ควรเอาทั้งปากขวดเพาะ ปากขวดถ่าย และช้อนลนอังไฟบ่อย ๆ เป็นครั้งเป็นคราวอยู่เสมอ

6. เมือทำการถ่ายขวดลูกกล้วยไม้หมด หรือถ่ายขวดลูกกล้วยไม้ได้ตามต้องการแล้วให้ดับตะเกียง จากนั้นเป็นตู้เพาะนำขวดลุกกล้วยไม้ที่ได้ถ่ายขวดใหม่ออกจากตู้เพาะ เขียนชื่อพ่อแม่ของลูกกล้วยไม้ รหัส วัน เดือน ปี ที่ได้ทำการถ่ายขวดไว้ แล้วนำไปเก็บไว้ในที่เก็บต่อไป

การเอากล้วยไม้ออกจากขวด

          หลังจากทำการถ่ายขวดได้ประมาณ 4 - 5 เดิอน ซึ่งลูกกล้วยไม้ในขวดเจริญเติบโตพอสมควร มีใบ มีรากดี จึงเอาลูกกล้วยไม้ออกจากขวดเพื่อนำไปปลูกเลี้ยงในกระถางต่อไป ถ้าปล่อยไว้ในขวดเมื่ออาหารของกล้วยไม้หมดแล้วอาจจะมีราเกิดขึ้นในวุ้นนั้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อลูกกล้วยไม้ได้ วิธีการเอาลูกกล้วยไม้ออกจากขวดมีดังนี้

1. เอาขวดลูกกล้วยไม้ไปวางในเรือนปลูกกล้วยไม้ให้ได้รับแสงน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ลูกกล้วยไม้ทนต่อสภาพแวดล้อม เรือนพวกนี้มีหลังคากันฝนได้ แล้วใช้ถุงพลาสติกรัดปากขวดไว้ป้องกันน้ำเข้า

2.เปิดจุกขวดออกทิ้งไว้ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง แล้วเอาน้ำสะอาดใส่ลงไปประมาณครึ่งขวด เขย่ายวดเบา ๆ เพื่อให้วุ้นแตก ต้นกล้วยไม้จะลอยขึ้นมา

3.ใช้ลวดตะขอเกี่ยวลูกกล้วยไม้ออกจากขวดใส่กะละมังที่มีน้ำอยู่ แต่ต้องระวังค่อย ๆ ดึงออกมาทีละต้น ๆ เพราะรากหักง่าย การเอากล้วยไม้ออกจากขวดด้วยวิธีนี้บางครังอาจจะทำให้กล้วยไม้ช้ำได้เพราะจะต้องใช้ลวดดึงออกมามีบางท่านกระทำโดยการทุบขวดเพื่อให้ปากกว้าง แล้วจึงเทกล้วยไม้ออก ทำให้กล้วยไม้ไม่ช้ำ แต่ขวดไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก

4.เมื่อเอาลูกกล้วยไม้ออกจากขวดหมดแล้วจะต้องล้างวุ้นที่ติดมากับต้น และรากออกให้หมด การล้างอาจจะต้องกระทำ 2 - 3 ครั้ง เพื่อล้างวุ้นออกให้หมด

5. คัดขนาดแล้วนำไปปลูกลงในกระถาง ในระยะแรกถ้าต้นยังมีขนาดเล็กมากก็ปลูกรวมกันในกระถางหมู่ หากต้นมีขนาดใหญ่หน่อยก็ย้ายลงปลูกในกระถางนิ้ว แล้วทำการเลี้ยง และดูแลรักษาเป็นกล้วยไม้เล็กต่อไป

 

Top