การจำแนกกล้วยไม้

การจำแนกกล้วยไม้ตามระบบราก

         การจำแนกประเภทของกล้วยไม้ตามความแตกต่างของระบบรากเป็นเกณฑ์นี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้อีกทางหนึ่ง เพราะผู้ปลูกเลี้ยงจะได้ใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้มาพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้เครื่องปลูก และภาชนะที่มีลักษณะ และคุณสมบัติให้เหมาะสมกับประเภทของระบบรากกล้ยไม้ นอกจากนี้ยังได้พิจารณาถึงการจัดสภาพของเครื่องปลูก และวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับการที่จะอำนวยให้รากกล้วยไม้เจริญแข็งแรงอีกด้วย

          เนื่องจากกล้วยไม้เป็นพันธุ์ไม้วงศ์ใหญ่ และมีลักษณะตลอดจนนิสัยที่แตกต่างกันอย่างแพร่หลาย ทำให้สามารถจำแนกประเภทของกล้วยไม้ตามความแตกต่างของระบบรากได้ 4 ประเภทดังนี้

 

ระบบรากดิน

กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากดิน

          เป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากเกิดจากหัวที่อวบน้ำซึ่งอยู่ใต้ดิน ตัวรากจะมีน้ำมาก กล้วยไม้ประเภทนี้มักจะพบอยู่ตามธรรมชาติ ในพื้นที่ที่มีสภาพของฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เช่น ในเขตที่มีฤดูฝนซึ่งมีฝนตกชุก และมีฤดูแล้งซึ่งแห้งสลับกัน เมื่อถึงฤดูฝน หัวก็จะแตกหน่อ และใบอ่อนชูพ้นขึ้นมาบนผิวดิน ส่วนหัวนั้นก็จะเจริญเป็นหัวใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก และอาจจะออกดอกในตอนปลายฤดู เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วก็จะทรุดโทรม และแห้งไป คงเหลือแต่หัวซึ่งอวบน้ำ และมีอาหารสะสมอยู่ฝังอยู่ในดิน มีการพักตัว และสามารถทนความแห้งแล้ง หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ร้อนจัด เย็นจัด ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งถึงฤดูที่มีน้ำ มีแสงสว่าง และอุณหภูมิเหมาะสมก็จะเจริญเป็นหน่อ และใบอ่อนอีกครั้งหนึ่ง

          กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากดินที่พบในประเทศไทยมีหลายสกุล เช่น สกุลฮาบีนาเรีย
(Habenaria) เพคไทลิส (Pecteilis) และแบรคคีคอไรทิส (Brachycorythis) ซึ่งมักพบการเรียกชื่อตามวรรณคดีไทยในยุคก่อน เช่น เท้าคูลู และดอกนางอั้ว นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้บางชนิดที่พบขึ้นอยู่กับพื้นดินแต่รากไม่มีลักษณะอวบน้ำ แต่ลำลูกกล้วยยังอยู่ใต้ผิวดิน เช่น กล้วยไม้กลุ่มหนึ่งในสกุลอยูโลเฟีย (Eulophia) เท่าที่เห็นชัดเจนคือ อยูโลเฟีย มาโครบัลบอน (Eulophia macrobulbon) เป็นต้น

 

กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งดิน

          กล้วยไม้ประเภทนี้ไม่มีหัวอวบน้ำเหมือนประเภทที่มีระบบรากแบบรากดิน มักพบตามธรรมชาติในสภาพที่ขึ้นอยู่บนพื้นดิน แต่รากไม่มีลักษณะอวบน้ำ รากสามารถเก็บสะสมน้ำได้ดีพอสมควร รากขนอ่อนแทบจะไม่มีเลย บางครั้งจะพบว่าใบอาจจะหลุดร่วงไปในฤดูแล้งจนเหลือแต่ตอ แต่ตาซึ่งอยู่ที่ตอก็ยังดีอยู่ เมื่อได้รับความชี้น และสภาพแวดล้อมหมาะสมก็จะแตกหน่อใหม่ได้อีก หากมีลำลูกกล้วยก็อาจจะอยู่ใต้ผิวดิน หรือเหนือผิวดินก็ได้ กล้วยไม้ประเภทนี้มีระบบรากค่อนข้างละเอียด ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ซึ่งมีหินผุ และใบไม้ผุตกทับถมอยู่ที่พื้นดิน และจะอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นอาหารด้วย กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งดิน ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว
(Phaius) สกุลฮาบีนาเรีย (Habenaria) สกุลสเปโธกล๊อตลิส (Spathoglotlis) และกล้วยไม้บางชนิดในสกุลอยูโลเฟีย (Eulophia)

ระบบรากกึ่งดิน

ระบบรากกึ่งอากาศ

กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศ

         หมายถึงกล้วยไม้ซึ่งโดยธรรมชาติจะขึ้นอยู่บนพื้นดิน บนหิน และบนต้นไม้ หากพบขึ้นอยู่บนพื้นดินก็จะอยู่บนพื้นดินซึ่งมีใบไม้ผุตกทับถมกันค่อนข้างหนา เนื่องจากเป็นสภาพที่โปร่งช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือเป็นพื้นที่สูงที่ไม่ทำให้น้ำขังอยู่นาน

          กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบนี้มีลักษณะ และคุณสมบัติเอนเอียงไปทางรากอากาศมากยึ่งขึ้น กล่าวคือ เซลล์ผิวของรากมีชั้นเซลล์ที่หนา และมีลัษณะคล้ายฟองน้ำ ผิวนอกเกลี้ยงไม่มีขน มีคุณสมบัติคล้ายฟองน้ำคือเก็บ และดูดน้ำได้มาก นอกจากนั้นยังสามารถนำน้ำไปตามเซลล์ผิวได้ตลอดความยาวของราก ดังที่พบเสมอ ๆ ตามธรรมชาติว่าแม้มีรากได้รับความชื้นเพียงบางส่วนก็ตากแต่กล้วยไม้สามารถดำรงชีวิต และเจริญอยู่ได้ กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศนี้มักมีรากแขนงใหญ่หยาบอยู่กันอย่างหนาแน่น ไม่มีรากขนอ่อน รากมีขนาดเล็กกว่ารากอากาศ และมีแขนงรากเล็กกว่า และหนาแน่นกว่า นอกจากนี้รากส่วนมากยังซ่อนตัวอยู่ในเครื่องปลูก มีส่วนน้อยที่โผล่ออกมรับอากาศ และแสงภายนอกภาชนะปลูก และไม่ชอบสภาพเครื่องปลูกที่แน่นทึบ หรือเปียกแฉะนานเกินไปอันเป็นเหตุให้รากได้รับอากาศไม่เพียงพอ กล้วยไม้ที่มมีระบบรากแบบนี้ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลหวาย สกุลออนซิเดียม และสกุลซิมบิเดียม เป็นต้น

 

กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากรากอากาศ

          กล้วยไม้ที่มีระบบรากเป็นรากอากาศอย่างแท้จริงนั้น มักพบขึ้นอยู่ตามต้นไม้ รากจะมีขนาดใหญ่ และหยาบ แต่ถ้าใช้มือหักรากสดออกดูจะพบว่าตัวรากจริง ๆ เป็นแกนเล็ก และแข็ง ส่วนผิวรากหนา รากจะทำหน้าที่ดูดน้ำ เก็บน้ำ และนำน้ำไปตามรากได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดีแม้ว่าจะไม่ถูกน้ำ หรือไม่รดน้ำเลยเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ตาม กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศนี้ หลังปลูกใหม่ ๆ รากจะพยายามเกาะเครื่องปลูก และภาชนะ เช่น กระถางดินเผา หรือกระเช้าไม้ที่ใช้ปลูก เพื่อเกาะยึดลำต้นให้มั่นคง และดูดความชื้นในภาชนะ จนกระทั่งสามารถดูดเก็บความชื้นได้เพียงพอ ต่อจากนั้นรากก็จะพยายามพุ่งยื่นออกนอกภาชนะ หรือกระถางที่ปลูกไปสู่อากาศ และอาจจะเจริญแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมือต้นเจริญเติบโตแข็งแรงดี จะมีการแตกรากออกไปอย่างกว้างขวาง

          กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศนี้จะไม่ชอบอยู่ในสภาพที่เปียกแฉะนานเกินไป แต่ชอบสภาพที่โปร่งทำให้รากสามารถแห้งได้รวดเร็วหลังจากเปียกน้ำ นอกจากนั้นอาจพบว่าบางส่วนของรากเช่นที่ปลายรากสด ๆ มีสีเขียวของคลอโรฟีลล์เห็นได้ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารากอากาศสามารถทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับใบเมื่อมีแสงสว่าง เพราะฉะนั้นรากประเภทนี้จึงไม่หลบแสงสว่างเหมือนรากต้นไม้ดินทั่ว ๆ ไป กล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลแมลงปอ สกุลเข็ม และสกุลเรแนนเธอร่า

 

ระบบรากอากาศ
การจำแนกกล้วยไม้ตามลักษณะการเจริญเติบโต และรูปทรง

          การจำแนกกล้วยไม้ตามลักษณะการเจริญเติบโต และรูปทรงนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการแบ่งแยกส่วนต่าง ๆ ของกล้วยไม้ไปปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณ ในการจัดหาภาชนะปลูก หรือวิธีปลูกก็ดีจำเป็นต้องทราบเสียก่อนว่ากล้วยไม้ที่กำลังจะขยายพันธุ์ หรือจะปลูกนั้นมีการเจริญเติบโต และรูปทรงอยู่ในประเภทใด จึงจะสามารถจัดวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับลักษณะของการเจริญเติบโตได้ การจำแนกกล้วยไม้โดยอาศัยหลักเกณฑ์นี้ สามารถจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

 

ประเภทไม่แตกกอ (Monopodial)   

          เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด คือตาที่ยอดจะแตกใบใหม่เจริญขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโคนต้นจะออกรากไล่ตามขึ้นไป เมื่อกล้วยไม้มีอายุมากขึ้นส่วนของโคนจะแห้งตายไล่ยอดขึ้นไป กล้วยไม้ประเภทนี้มีระบบรากแบบรากอากาศ การเรียงตัวของใบเป็นแบบซ้อนทับกัน และตัวใบต่างมีข้อต่อกับกาบใบ ส่วนมากเนื้อใบหนาแบน บางสกุลมีใบเป็นก้านกลมดูคล้ายกิ่ง กลีบรองดอกคู่ล่างมักเชื่อมติดกัน ทำให้เกิดเป็นรูปคางขึ้น กลีบกระเป๋าต่างติดอยู่ตรงโคนเส้าเกสรและมักจะมีเดือยหรือไม่มีก็เป็นรูปถุงในหลอดเดือย หรือถุงนี้มักมีตุ่มหรือติ่งปรากฏอยู่เสมอ กลุ่มเรณูมีจำนวน 2 กลุ่ม มีก้านส่งยาวและกลุ่มเรณูหนึ่งๆ จะมีร่องความยาวปรากฎให้เห็น การออกดอกจะออกที่ตาตามข้อของลำต้นเท่านั้นไม่ออกที่ยอด ลักษณะการถือฝักและเมล็ด ปลายฝักจะตั้งชี้ขึ้น เมล็ดที่สมบูรณ์จะมีสีน้ำตาล ส่วนเมล็ดลีบมีสีขาว กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทไม่แตกกอได้แก่ กล้วยไม้ในสกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลเสือโคร่ง สกุลม้าวิ่ง สกุลแมลงปอ สกุลเรแนนเธอร่าและสกุลแวนด๊อฟซิส

ประเภทไม่แตกกอ
  

ประเภทแตกกอ

ประเภทแตกกอ (Sympodial)      

          เป็นกล้วยไม้ประเภทที่มีรูปทรงและการเจริญเติบโตคล้ายกับพืชที่แตกกอทั่วไป คือในต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น ต้นแท้จริงของกล้ายไม้ประเภทนี้จะอยู่ในเครื่องปลูก เช่น กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี อาจมีลำต้นที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างโผล่ยื่นออกมาซึ่งมักบวมเป่ง และทำหน้าที่สะสมอาหาร ต้นส่วนนี้เรียกว่า "ลำลูกกล้าย" เช่น กล้ายไม้ในสกุลหวาย สกุลแคทลียา เป็นต้น กล้วยไม้ประเภทแตกกอมีระบบรากทั้งที่เป็นรากดิน รากกึ่งดินและรากกึ่งอากาศ กล้วยไม้ดินมีการเรียงตัวของใบม้วนซ้อนเวียนกันไป ส่วนกล้วยไม้อากาศเรียงซ้อนทับกัน การออกดอกบางชนิดออกดอกที่ยอด บางชนิดออกดอกที่ตาข้างตามข้อของลำลูกกล้วย บางชนิดออกดอกได้ทั้งที่ตายอดและตาข้าง บางชนิดออกดอกเฉพาะลำลูกกล้วยที่ทิ้งใบหมดแล้ว โคนเส้าเกสรยื่นยาวออกไปและเชื่อมตัดกันกับกลีบรองดอก ลักษณะการถือฝักและเมล็ด ปลายฝักจะห้อยชี้ดิน เมล็ดที่สมบูรณ์เมื่อแก่จะมีสีเหลือง ส่วนเมล็ดลีบมีสีขาว กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทแตกกอ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลหวาย สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม และสกุลแกรมมาโตฟิลลั่ม

 

 

Top