โรงเรือนกล้วยไม้

          กล้วยไม้ที่เรานำมาปลูกเลี้ยงส่วนใหญ่ไม่ได้เจริญอยู่บนพื้นดินในที่กลางแจ้งเหมือนกับพืชไร่ พืชผักและไม้ผลทั่วไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมบางอย่างให้เหมาะสมหรืออาจเรียกได้ว่าสร่างบ้านที่เหมาะสมสำหรับกล้วยไม้ เพื่อให้กล้วยไม้เจริญงอกงามได้ดี สภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงสำหรับกล้วยไม้ในประเทศไทยได้แก่ แสงแดด 50-60 % อุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียล ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 60-80 % การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศที่ดีในวัสดุปลูก (planting materials) และการหมุนเวียนของอากาศ (air movement) หรือลมที่พัดผ่านอ่อน ๆ รอบต้นและรากกล้วยไม้ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สามารถที่จะกระทำได้ทั้งภายในอาคารบ้านเรือน ภายนอกอาคารบ้านเรือน และภายในโรงเรือนที่ใช้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้โดยเฉพาะ

ปัจจัยสภาพแวดล้อม

          เนื่องจากกล้วยไม้ที่ปลูกในประเทศไทยเป็นไม้เขตร้อน ดังนั้นปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับอุณหภูมิจึงไม่ต้องคำนึงถึงมากนัก แต่ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ

1. ความเข้มแสงแดด กล้วยไม้บางชนิดต้องการแสงแดดเต็มที่ แต่บางชนิดต้องการร่มเงามาก โครงสร้างของใบกล้วยไม่มีความสัมพันธ์กับความต้องการแสงแดด กล้วยไม้ใบหนาและใบกลมจะต้องการแสงแดดเต็มที่ เมื่อโครงสร้างใบเริ่มกว้างและนิ่มจะต้องการแสงแดดน้อยลง และเมื่อใบนิ่มสีเขียวมีแผ่นใบใหญ่จะต้องการร่มเงามาก ดังนั้นจึงควรเลือกตาข่ายพรางแสงให้แสงผ่านได้มากน้อยตามความต้องการของกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ

2. ความชื้น กล้วยไม้ส่วนใหญ่ต้องการความชื้นสูงและมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 60-80 % แต่ไม่ต้องการให้บริเวณรากชื้นแฉะจนเกินไปโดยเฉพาะกล้วยไม้อากาศ กล้วยไม้ที่มีใบหนา ผิวใบหยาบรวมทั้งมีลำลูกกล้วย (pseudobulb) จะทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีกว่ากล้วยไม้ที่มีใบบาง ผิวใบนิ่ม รวมทั้งไม่มีลำลูกกล้วย การปรับความชื้นภายในโรงเรือนให้เหมาะสมทำได้โดยการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม ปลูกกล้วยไม้ในปริมาณที่เหมาะสม และจัดการสภาพแวดล้อมภายนอกโรงเรือนให้มีความชื้นเพียงพอ

3. การเคลื่อนที่อากาศ กล้วยไม้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะกล้วยไม้อากาศเจริญตามกิ่งไม้ ดังนั้นบริเวณที่ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ควรมีการเคลื่อนที่ของอากาศที่ดี ต้นกล้วยไม้จึงจะเจริญเติบโตได้ดี

โรงเรือน

          ในการสร้างโรงเรือนสำหรับปลูกกล้วยไม้นั้น จุดประสงค์เพื่อใช้จัดวางต้นกล้วยไม้ให้เป็นระเบียบสะดวกแก่การทำงาน และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเจริญเติบโต และการออกดอกของกล้วยไม้ที่อยู่ในโรงเรือน ต้นกล้วยไม้ทุกชนิดมีความต้องการแสงแดด เพื่อใช้สังเคราะห์แสงสร้างอาหารนำไปใช้ในการเจริญเติบโต แต่ต้นกล้วยไม้ไม่สามารถทนต่อความร้อนที่มากับแสงแดดได้จึงจำเป็นต้องมีการพรางแสง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้ต่ำลง โดยสร้างหลังคาโรงเรือนให้พรางแสงเหลือเพียงร้อยละ 50-70 ตามความต้องการของกล้วยไม้แต่ละชนิด และต้องมีการระบายอากาศดีไม่ให้ร้อนอบอ้าว แต่ไม่ควรให้ลมโกรกแรงเกินไปจนพัดพาความชื้นไปหมด โครงสร้างโรงเรือนควรแข็งแรง

ลักษณะโรงเรือนของกล้วยไม้แต่ละสกุล

สกุล
ความสูงโรงเรือน (เมตร) %
การพรางแสง
วิธีการปลูก
หวาย
2.5 - 3.5
50 - 60
วางบนชั้น
ออนซิเดียม
2.5 - 3.5
40 - 50
วางบนชั้น
อะแรนด้า
3.0 - 4.0
50 - 70
วางบนชั้นหรือปลูกลงแปลง
ม๊อคคาล่า
3.0 - 4.0
50 - 70
วางบนชั้นหรือปลูกลงแปลง
แวนด้า
          - ใบแบน
3.0 - 4.0
40 - 50
วางบนชั้นหรือแขวนหรือลงแปลง
          -ใบร่อง
3.0 - 4.0
20 - 30
ปลูกลงแปลง

โครงสร้างโรงเรือน

โรงเรือนสร้างได้เป็น 2 แบบ คือ

1. สร้างเป็นโรงเรือนหลังใหญ่แล้วสร้างโต๊ะวางกล้วยไม้หรือราวแขวนไว้ภายใน

2. สร้างโต๊ะวางกล้วยไม้ แล้วใช้ไม้ต่อจากโต๊ะขึ้นไปเพื่อทำโครงหลังคา นิยมทำสำหรับกล้วยไม้สกุลหวาย
เสาโรงเรือน

          ในกรณีสร้างเป็นโรงเรือนหลังใหญ่ ควรใช้เสาที่ทำด้วยคอนกรีตอัดแรงหรือแป๊บน้ำ เหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ให้ฝังลงในดิน 50 เซนติเมตร ที่เหลือบนผิวดินยาวตามความสูงที่ต้องการ อาจใช้เสารั้วคอนกรีตอัดแรงยาว 2-3 เมตร แล้วต่อด้วยไม้เพื่อให้สูงตามต้องการ ไม่ควรใช้ไม ้เพราะจะผุตรงคอดินและหักได้ง่าย เสาห่างกัน 6 เมตร เสาแถวริมต้องมีเสาค้ำยันเพื่อกันเรือนโยก

หลังคาโรงเรือน

          ปัจจุบันนิยมใช้ตาข่ายไนล่อนสีดำ ที่เรียกกันว่าซาแรนคลุมหลังคา เนื่องจากราคาถูกสร้างได้ง่าย และไม่เปลืองเสาเนื่องจากมีน้ำหนักเบาราคาตารางเมตรละ 8-15 บาท ทำคานที่หัวเสาซึ่งลวดเบอร์ 14 ตามความยาวของเรือนทุกระยะครึ่งเมตร การขึงตาข่ายไนล่อนสีดำ อาจทำโดย

1. เย็บติดเป็นผืนเดียวกัน แล้วเอาขึ้นคลุมหลังคาหรือขึงบนหลังคา แล้วจึงเย็บติดกันตรึงกับลวดเป็นระยะ ๆ เพื่อกันกระพือมีข้อเสียที่ไม่ต้านพายุอาจถูกพัดพังได้ง่าย

2. ขึงแต่ละผืนชิดกันหรือเว้นช่องว่างเล็กน้อย และตรึงกับลวดเป็นระยะ ๆ จะช่วยลดแรงปะทะของลมพายุ

3. ขึงต่างระดับ ให้แต่ละแผ่น (หน้ากว้าง 2 เมตร) อยู่สลับกัน สูง – ต่ำ เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น และลดแรงปะทะของลมพายุ

การขึงซาแรน

           ต้องขึงให้ตึง และตรึงติดกับลวดให้เรียบร้อย อยู่ให้ทับหัวเสา เพราะจะขาดง่าย จากการทดลองวัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ ์และความเข้มแสงของเรือนกล้วยไม้ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2531 โดยวัดบริเวณยอดกล้วยไม้ ดังนี้

อุณหภูมิภายในและภายนอกเรือนกล้วยไม้ (องศาเซลเซียส)

เวลา (น.) หลังคาซาแรน
1 ชั้น
หลังคาซาแรน
2 ชั้น
หลังคาระแนง ภายนอกเรือน
09.00 24 24 24 25
10.00 26 26 25 27.5
11.00 29.5 29 27.5 30
12.00 30 31.5 30 33.5
13.00 30 30 33.5 38
14.00 31 31 31 34.5
15.00 30.5 30.5 34 36.5
18.00 29 29.5 35 35

ความเข้มแสง (กิโล-ลักซ์) ภายในและภายนอกเรือนกล้วยไม้

เวลา (น.)
หลังคาซาแรน
1ชั้น
หลังคาซาแรน
2ชั้น
หลังคาระแนง
เงามืด

หลังคาระแนง
ช่วงสว่าง

ภายนอกโรงเรือน
9.00
10
10
2
15
40
10.00
20
20
3
20
50
11.00
20
20
4
15
50
12.00
22
10
4
20
50
13.00
20
8
10
40
60
14.00
15
7
5
10
45
15.00
13
7
10
20
50
18.00
9
4
7
10
35

จากตารางจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิ ภายนอกเรือนระหว่าง 11.00 - 18.00 น. จะสูงกว่าในโรงเรือน และตั้งแต่ 13.00 น. ภายในเรือนระแนงจะร้อนกว่า

          สำหรับความเข้มของแสงนั้น พบว่า การขึงซาแรน 2 ชั้น จะช่วยลดความเข้มของแสงน้อยกว่าชั้นเดียวตั้งแต่ 12.00 - 18.00 น. ในช่วงเช้า และบ่ายหลังคาซาแรนจะพรางแสงได้มากกว่า 50% ในช่วงเที่ยงวัน สำหรับหลังคาระแนงนั้น เมื่อวัดในช่วงสว่างจะใกล้เคียงกับหลังคาซาแรน 1 ชั้น แต่ความเข้มของแสงไม่เท่ากับภายนอก เพราะระหว่างที่แสงส่องลงมาเมื่อผ่านไม้ระแนงจะเกิดเงามืด และทำให้รอบ ๆ เงามืดเป็นเงามัว ความเข้มของแสงจึงลดลงมากกว่าครึ่ง  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหลังคาซาแรน และหลังคาระแนงแล้วจะเห็นว่าต้นกล้วยไม้ใต้หลังคาซาแรนจะได้รับแสงสม่ำเสมอทุกจุดดีกว่าหลังคาระแนง

ข้อดี และข้อเสียของการใช้ซาแรน

ข้อดี

1. ประหยัดโครงหลังคาและเสา ทำให้ต้นทุนการสร้างโรงเรือนลดลง

2. สร้างได้รวดเร็วและรื้อถอนได้ง่าย เมื่อไม่ต้องการใช้หรือเมื่อต้องการเปลี่ยนใหม่

3. ราคาถูก

4. แสงแดดที่ผ่านซาแรนลงมาจะเฉลี่ยเท่ากันทุกจุดของพื้นที่ และสามารถควบคุมความเข้มแสงแดดได้ถูกต้อง เช่น กล้วยไม้สกุลหวายและกลุ่มแคทลียา ต้องการแสงแดดประมาณ 60 % กลุ่มแวนด้าต้องการแสงแดดประมาณ 50 % และลูกกล้วยไม้ต้องการประมาณ 20 %

5. มีอายุการใช้งานนานถึง 5 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพของซาแรน

ข้อเสีย

1. ถ้าไม่มีทางเปิด อุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงกว่าปกติ และอากาศไม่ถ่ายเทเท่าที่ควร ทำให้ต้นกล้วยไม้เจริญเติบโตไม่ดี

2. ถ้าสร้างโรงเรือนในที่โล่ง และมีลมพายุพัด อาจทำให้โรงเรือนล้มพังลงได้ถ้าโครงสร้างของโรงเรือนไม่แข็งแรงนัก

พื้นโรงเรือน

          พื้นโรงเรือนที่ปลูกกล้วยไม้ตัดดอก ส่วนทางเดินควรขุดในบริเวณใต้โต๊ะมาถมให้สูง เพื่อให้น้ำระบายได้เร็วและใต้โต๊ะจะกลายเป็นทางระบายน้ำ สภาพในกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงนั้นดินเป็นดินเหนียว หลังจากรดน้ำหรือฝนตกทางเดินจะแฉะ และลื่นมาก ถ้าใช้แผ่นซีเมนต์ปูทางเดินจะทำงานได้สะดวกขึ้น และลดอันตรายจากการล้ม

          การกำจัดวัชพืชที่พื้นเรือนนั้นใช้สารกำจัดวัชพืชดีกว่าการใช้แรงคน มีให้เลือกใช้หลายชนิดทั้งประเภททำให้ใบเหลืองแล้วแห้งตาย ชนิดคุมไม่ให้เมล็ดงอก ระวังขณะฉีดอย่าให้สารนี้กระเด็นมาโดนต้นกล้วยไม้ จะทำให้ใบไหม้ได้ มีสารบางชนิด เช่น ไซมาซิน สามารถฉีดไปที่โคนต้นกล้วยไม้ได้ โดยไม่ทำให้ต้นกล้วยไม้ตาย แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเครื่องฉีดสารฆ่าหญ้าต้องใช้แยกกับเครื่องรดปุ๋ยหรือสารกำจัดราและแมลง เพื่อกันไม่ให้สาร ฆ่าหญ้าที่ตกค้างในเครื่องฉีดไปเป็นพิษต่อต้นกล้วยไม้

โต๊ะวางกล้วยไม้

          สำหรับต้นกล้วยไม้ที่ปลูกโดยวางบนโต๊ะนั้น ทำโต๊ะสูง 70 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร และยาว 15-25 เมตร แล้วแต่ขนาดพื้นที่ เว้นทางเดินกว้าง 1-1.2 เมตร เพื่อความสะดวกในการทำงาน พื้นโต๊ะอาจใช้ไม้ไผ่ สายโทรศัพท ์หรือลวดสลิงขึงตามความยาวของโต๊ะสำหรับไม้นั้นใช้ได้ดีที่สุดแต่มีราคาแพง ไม้ไผ่ผุง่าย สายโทรศัพท์ใช้ได้ทนทานแต่หย่อนได้ง่าย เมื่อต้นโตขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น ถ้ามีผู้ดัดแปลงใช้เป็นเสาคอนกรีตอัดแรงท่อนเล็กกว่าเสารั้วมาใช้วาง จะลดต้นทุนในระยะยาวได้

ราวแขวนกล้วยไม้

          สำหรับกล้วยไม้ประเภทรากอากาศ เช่น แวนด้า แอสโคเซนด้าต้องปลูกในกระเช้า แล้วแขวนราวด้วยลวด ราวควรสูงจากพื้นดินประมาณ 2.5 เมตร ทำ 4 ราว ระยะห่างระหว่างราว 40-50 เซนติเมตร แล้วเว้นทางเดินประมาณ 1 เมตร ถ้าเป็นพวกแวนด้าต้นใหญ่ ราวต้องสูงกว่านี้ เพื่อไม่ให้รากระพื้นดิน พื้นเรือนควรถมทราย เพื่อให้ระบายน้ำดี และไม่เป็นที่สะสมของโรค และแมลง


Top