ลักษณะพิเศษของกล้วยไม้

          การจำแนกพืชวงศ์กล้วยไม้ได้จำแนกลักษณะพิเศษของกล้วยไม้ที่ต่างจากพืชอื่นไว้ดังนี้

1. เกสรตัวผู้อยู่ข้างเดียวของดอก (ไม่สมดุล) กล้วยไม้ส่วนใหญ่มีเกสรตัวที่ไม่เป็นหมันเพียงอันเดียว แต่มีกล้วยไม้เพียง 1 สกุลที่มี 3 อัน แต่ล้วนอยู่ข้างเดียวซึ่งอาจเป็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

2. เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบางส่วนตะรวมกัน แต่ส่วนใหญ่จะรวมทั้งหมดเป็นโครงสร้างเดียวคือ “เส้าเกสร”

3. เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ

4. ดอกกล้วยไม้มีกลีบชั้นในซึ่งเรียกว่า “ปาก” จะอยู่ตรงข้ามกับเกสรตัวผู้ที่ไม่เป็นหมัน ซึ่งต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน มีกล้วยไม้เพียงส่วนน้อยที่ “ปาก” ไม่แตกต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน

5. ดอกกล้วยไม้จะบิดในช่วงที่ดอกกำลังพัฒนา ตาดอกหรือดอกตูมจะบิดเพื่อให้ปากอยู่ส่วนล่างของดอกเมื่อบาน ซึ่งเรียกว่า “resupination”

6. ส่วนของ stigma ที่เรียกว่า “rostellum” จะเกี่ยวข้องกับการส่งกลุ่มเรณูจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

7. เรณูจะรวมกันเป็นกลุ่มเรณู ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในวงศ์กล้วยไม้ ลักษณะนี้กับ rostellum จะเกี่ยวข้องกันอย่างมากในการถ่ายละอองเกสรโดยแมลงและนก ซึ่งจะพากลุ่มเรณูไปทั้งกลุ่ม ทำให้กล้วยไม้มีเมล็ดจำนวนมาก เนื่องจากเรณูไม่สูญเสียไปเหมือนพืชอื่น ๆ เมื่อฝักหรือผลแก่จะแตกออก เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กและมีอาหารสะสมเพียงเล็กน้อยจะปลิวกระจายไปตามลม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะงอกเป็นต้น

 

สภาพความเป็นอยู่ของกล้วยไม้ Top

          กล้วยไม้ที่เจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติสามารถแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโต ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. กล้วยไม้อากาศ (epiphyte) คือกล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ โดยมีรากเกาะติดกับกิ่งไม้หรือลำต้น กล้วยไม้อากาศไม่ได้แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันขึ้นอยู่ แต่ได้รับอาหารจากซากอินทรีย์วัตถุ เช่น ใบไม้ที่ร่วงและผุพัง รวมทั้งซากแมลงที่หล่นและน้ำฝนชะมาอยู่บริเวณโคนต้นกล้วยไม้ รากกล้วยไม้อากาศชอบการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำที่ดี ผิวนอกของรากมีสารคล้ายฟองน้ำห่อหุ้มอยู่ซึ่ง เรียกว่า “velaman” ทำหน้าที่อุ้มน้ำจากน้ำฝนและน้ำค้างเก็บไว้เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ป้องกันเนื้อเยื่อภายในได้รับบาดแผลและช่วยยึดเกาะติดกับต้นไม้ นอกจากนี้รากกล้วยไม้มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) จึงสามารถสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ได้ กล้วยไม้อากาศชนิดที่ต้องการแสงที่มีความเข้มสูงจะเจริญอยู่บริเวณยอดและกิ่งบน ๆ ของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ ส่วนกล้วยไม้อากาศชนิดที่ต้องการแสงความเข้มต่ำรวมทั้งพวกที่ไม่สามารถทนต่อสภาพแล้งก็จะเจริญอยู่ส่วนล่าง ๆ ของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ นอกจากนี้กล้วยไม้อากาศบางชนิดพบขึ้นอยู่ตามหินหน้าผา ซอกหิน หรือท่อนไม้ซุง

          กล้วยไม้อากาศที่ส่วนใหญ่ปลูกเป็นการค้าแยกได้เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นลำต้นเดี่ยวไม่มีการแตกกอ (monopodial) เช่น สกุลแวนด้า (Vanda) สกุลเข็ม (Ascocentrum) สกุลช้าง (Rhychostylis) สกุลกุหลาบ (Aerides) สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis) ฯลฯ กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นกอ (sympodial) เช่น สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลออนซิเดียม (Oncidium) กลุ่มแคทลียา (Cattleya alliance) ฯลฯ

2. กล้วยไม้ดิน (terrestrial) พบขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรีย์วัตถุ ส่วนมากเป็นพวกที่มีหัวอยู่ใต้ดินและเป็นพวกที่มีการพักตัวตลอดฤดูแล้ง โดยเหลือเพียงหัวฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนจะผลิใบและช่อดอกและสร้างหัวใหม่ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อดอกโรยใบจะเหี่ยวแห้ง คงเหลือหัวฝังอยู่ในดินตลอดฤดูแล้ง เช่น กล้วยไม้สกุลฮาบีนาเรีย (Habenaria) สกุลเปคไตลิส (Pecteilis) ฯลฯ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่รดน้ำ เพราะจะทำให้หัวเน่า กล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งเป็นพวกรากกึ่งดินคือกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)


กล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงในประเทศไทย Top

          ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของกล้วยไม้เขตร้อน มีประมาณ 1,000 ชนิด กล้วยไม้ไทยมีความหลากหลายทั้งทางด้านรูปร่างและสีสันของดอกทรงต้น ใบ และสภาพที่อยู่อาศัย จึงได้มีการนำมาปลูกเลี้ยงตามบ้านเรือน และใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สร้างลูกผสมที่เป็นที่นิยมมากมายทั้งเพื่อตัดดอกและเป็นไม้กระถาง

          กล้วยไม้ไทยหรือกล้วยไม้ที่ได้จากป่าของประเทศไทยก็เหมือนกับกล้วยไม้ป่าจากที่ต่าง ๆ ของโลก ซึ่งมักจะออกดอกปีละครั้งเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากความสวยงามเฉพาะตัว ก็สามารถชดเชยเรื่องการออกดอกได้ และถ้าเลือกปลูกหลาย ๆ สกุลที่ฤดูออกดอกแตกต่างกันก็สามารถให้ดอกไว้เชยชมได้ตลอดทั้งปี

กล้วยไม้ไทยที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงสามารถแยกตามสกุลได้ดังนี้

1. สกุลกุหลาบ (Aerides spp.)

2. สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.)

3. สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum spp.)

4. สกุลคาแลนเธ (Calanthe spp.)

5. สกุลซีโลจิเน (Coelogyne spp.)

6. สกุลซิมบิเดียม (Cymbidium spp.)

7. สกุลหวาย (Dendrobium spp.)

8. สกุลม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima)

9. สกุลแกรมมาโตฟิลลัม (Grammatophyllum speciosum)

10. สกุลฮาลีนาเรีย (Habenaria spp.)

11. สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)

12. สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis spp.)

13. สกุลรีแนนเธอร่า (Renanthera spp.)

14. สกุลช้าง (Rhychostylis spp.)

15. สกุลสแปทโธกลอตติส (Spathoglottis spp.)

16. สกุลเสือโคร่ง (Trichoglottis spp.)

17. สกุลแวนด้า (Vanda spp.)

18. สกุลแวนดอปซิส (Vandopsis spp.)

 

Top